วันเสาร์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ตำนานๆ 009015 : เทียบรัศมี แข่งพระบารมี

ฟังเสียงพร้อมเพลงประกอบ : http://www.4shared.com/mp3/Jj4fRmYT/The_Royal_Legend_015_.html

หรือที่ : 
http://www.mediafire.com/?1kmf63kwurvta15

ตำนานๆ 009015 : เทียบรัศมี แข่งพระบารมี


............

ปี 2540 นิตยสารฟอร์บ (Forbes) ประมาณทรัพย์สินของพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลมีอยู่ในราว 1.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือราวแปดหมื่นล้านบาท




ขณะที่คนของพระเจ้าอยู่หัวที่ทำงานอยู่เบื้องหลังธุรกิจของพระองค์ ก็กำลังทำการกอบกู้ราชอาณาจักรธุรกิจของวังที่ล้มกันไปอย่างขนานใหญ่ การกอบกู้ธุรกิจของวังนี้ได้สูบเอางบประมาณจำนวนมหาศาลอย่างมากจากรัฐบาลที่ก็กำลังแห้งเหือดอยู่แล้ว


สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ของในหลวงภูมิพล และการลงทุนต่างๆของวัง ก็ยังต้องการเงินทุนใหม่จำนวนมหาศาลเพื่อให้คงสภาพคล่องอยู่ได้ ไม่ต่างจากกลุ่มธุรกิจอื่นๆ แม้ว่าสำนักงานทรัพย์สินจะมีกองทุนสำรอง แต่ก็ไม่พอเพียงสำหรับจำนวนเงินหลายหมื่นล้านบาทที่เครือซีเมนต์ไทยกับธนาคารไทยพาณิชย์จำเป็นต้องใช้เพื่อให้อยู่รอดภายใต้พระบรมโพธิสมภาร วังได้ดึงคนเก่งๆของประเทศหลายคนมาแก้ปัญหา




เช่น นายธารินทร์ นิมมานเหมินทร์







นายวิชิต สุรพงษ์ชัย







และนายยศ เอื้อชูเกียรติ
พวกเขาเป็นนักปฏิบัติ แกร่งและตั้งใจกันวังออกจากการวิวาทอันเอิกเกริกอย่างที่กลุ่มธุรกิจไทยอื่นๆ มีกับเจ้าหนี้




โดยที่วังยังคงเหนียวแน่นที่จะกอดหุ้น 37%ในเครือซีเมนต์ไทยไว้ไม่ยอมปล่อย เมื่อไม่มีเงินทุนใหม่จากสำนักงานทรัพย์สินฯ หนทางเดียวที่จะลดหนี้ของเครือซีเมนต์ไทยได้ คือการขายบริษัทลูก ซึ่งหลายกิจการเคยถูกมองเป็นธุรกิจบุกเบิกของไทย เช่น ชิ้นส่วนรถยนต์กับอิเล็คโทรนิกส์



แต่
ธนาคารไทยพาณิชย์ไม่สามารถจะแบ่งขายได้ เพราะเครือซีเมนต์ไทยกับบริษัทลูกเกือบทั้งหมดมีมูลค่าติดลบอย่างรุนแรง ธนาคารไทยอื่นๆ มีทางเลือกเดียว คือให้ต่างชาติเทคโอเวอร์หรือยึดกิจการ






แต่ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินฯ นายจิรายุ อิศรางกูร บอกว่าเป็นไปไม่ได้เพราะ “ ธนาคารนี้เป็นมรดกตกทอดมาจากรัชกาลที่ 5 สำนักงานทรัพย์สินฯ จะทำทุกวิถีทางเพื่อรักษามันไว้ เเม้ว่าธนาคารอื่นจะถูกต่างชาติเทคโอเวอร์ไปหมดก็ตาม


ธนาคารไทยพาณิชย์จะยังคงเป็นธนาคารไทยแห่งเดียวที่เหลืออยู่ในประเทศ ต่อให้ต้องแลกกับทุกอย่างก็ตาม ” ทั้งๆที่ธนาคารไทยพาณิชย์ก็ไม่ได้รับใช้ผลประโยชน์ชาติมากกว่าธนาคารอื่นๆเลย แต่กระทรวงการคลังถูกบีบให้อัดฉีดเงินประมาณหนึ่งพันล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่าสี่หมื่นล้านบาทให้ธนาคารไทยพาณิชย์ ทำให้รัฐบาลเป็นฝ่ายเสียเปรียบ

แต่มันทำให้วัง หรือกษัตริย์ภูมิพลยังคงถือหุ้น 26% กระทรวงการคลังผู้ถือหุ้นรายใหญ่มอบอำนาจการบริหารให้วังหรือกษัตริย์ภูมิพล และมีข้อผูกมัดต้องขายหุ้นคืนแก่สำนักงานทรัพย์สินฯของในหลวงภูมิพลในภายหลัง


ส่วนกิจการอื่นๆ ที่สำนักงานทรัพย์สินฯ ถือหุ้น อันที่ไปไม่รอดก็ถูกปิด และอันที่จะรอดหากมีทุนใหญ่ก็จะหานักลงทุนต่างชาติ สำนักงานทรัพย์สินฯ ของกษัตริย์ภูมิพลเล่นบทโหดมากกับหุ้นส่วนที่ทำธุรกิจ บังคับให้ต้องชดใช้วังสำหรับมูลค่าทรัพย์สินที่สูญเสียไป

สำนักงานทรัพย์สินฯ ยืนยันรักษาบริษัทก่อสร้างคริสเตียนนีแอนด์นีลสัน Christiani & Nielsenที่หมดปัญญาใช้หนี้

เพราะมีสัญญาหลายร้อยล้านเหรียญสหรัฐ หรือนับหมื่นล้านบาทืเพื่อสร้างเจดีย์ขนาดใหญ่ของวัดธรรมกาย หรือมหาธรรมกายเจดีย์ ที่เจ้าอาวาสนั่งรถเก๋งโรลส์รอยซ์ราคาเป็นสิบล้านบาท


พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลทรงตกอยู่ในภาวะความขัดแย้งอย่างรุนแรงในเรื่องต่างๆ ทั้งการเมือง การเงินและจิตวิญญาณ ซึ่งพระเจ้าอยู่หัวทรงรับทราบเรื่องเหล่านี้ดี ตามคำให้สัมภาษณ์ของนายจิรายุ อิสรางกูร ที่ยืนยันว่าในหลวงภูมิพลต้องลงพระนามรับรองกระทั่งการขายทรัพย์สินของหลวงที่เล็กที่สุด



วิกฤตทางเศรษฐกิจหรือ พิษต้มยำกุ้งในปี 2540 ได้สอนให้ทั้งวังและกองทัพได้สำนึกว่าพวกเขาขาดความรู้และความสามารถในการรับมือเรื่องทางเศรษฐกิจและสังคมสมัยใหม่ที่ซับซ้อน แต่ยังคงมีการโหมการรณรงค์โฆษณาประชาสัมพันธ์ฉลองพระชนมพรรษาครบหกรอบหรือ72 ชันษาในปี 2542 ทั้งๆที่ รัฐบาลยังคงต้องประหยัดงบประมาณอย่างเต็มที่ก็ตาม

มีการจัดกิจกรรม และมหกรรมต่างๆมากมายเพื่อการถวายพระเกียรติยศยกย่องเทิดทูนในหลวงให้เป็นพระมหาราชธรรมราชา พระมหาโพธิสัตว์ คราวนี้ตรงไปตรงมามากกว่าที่เคยโดยเริ่มจากกลางปี 2541 มีการพิมพ์หนังสือที่ระลึกและสารคดีที่บรรจงสร้าง เพื่อสดุดีพระเกียรติยศของพระเจ้าอยู่หัวออกมาไม่ขาดสาย วัดธรรมกายที่อื้อฉาวประกาศจัดบรรพชาพระ 100,000 รูป เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล

กองทัพประกาศสร้างพระมหาธาตุเจดีย์เฉลิมพระบารมีพระนวมินทร์ ที่จังหวัดอุดรธานี เพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุจากลังกา เนื่องในการเฉลิมพระชนมพรรษาหกรอบ 5 ธันวาคม 2542 การบินไทยที่ขาดทุนหนักก็ยังต้องสร้างวัดถวายพระเจ้าอยู่หัวที่เชียงราย

ในเดือนธันวาคม 2540 วังได้เปิดเผยว่าพระเจ้าอยู่หัวทรงภูมิพลทำสถิติ รับปริญญาบัตรจากมหาวิทยาลัยต่างๆ มากที่สุดในโลก และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ก็ได้ถวายปริญญาเอกกิตติมศักดิ์แด่ในหลวงภูมิพลรวดเดียว 10 ใบอย่างไม่มีการรั้งรอ ตั้งแต่ ชีววิทยา ภูมิศาสตร์ ไปจนถึงนิรุกติศาสตร์และการบริหารธุรกิจ ถึงสิ้นปี 2540 พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลทรงได้รับการถวายปริญญาบัตรถึง 136 ใบ

ในระหว่างนั้น สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ (TDRI) ถูกวังสั่งให้เอาทฤษฎีใหม่ของพระเจ้าอยู่หัวกับเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหัวข้อในการประชุมประจำปี 2542


วิทยากรแต่ละท่าน ต่างพบความยิ่งใหญ่อันน่าอัศจรรย์ของเศรษฐศาสตร์ ตามแนวพระราชดำริ และต่างก็อ้างงานวิจัย ข้อมูลสถิติต่างๆ อย่างจริงจังเพื่อสนับสนุนแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของพระเจ้าอยู่หัว ทรงแสดงความยินดีที่นักเศรษฐศาสตร์และนักวิชาการเอาจริงเอาจังกับ “ แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล ”

เมื่อพวกนักวิชาการมีคำถามในการนำไปปฏิบัติ ในหลวงก็ทรงตำหนิว่า เป็นเพราะไม่อ่านแผ่นพับทฤษฎีใหม่ที่พระองค์ทรงทำไว้แล้วเมื่อหลายปีก่อน แต่พระองค์ทรงสำทับด้วยความภูมิพระทัยว่า “ เป็นเกียรติอย่างยิ่งที่พวกเขาบอกว่าเศรษฐกิจพอเพียงไม่มีอยู่ในตำราเล่มไหน เพราะหมายความว่ามันเป็นแนวคิดใหม่

จุดสำคัญในการเฉลิมฉลองพระเกียรติคุณ คือบทบาทของพระเจ้าอยู่หัวในการพัฒนาแหล่งน้ำ โดยทรงได้รับการเทิดพระเกียรติในแบบของ มหาเทวราชาผู้ประทานชีวิตของชาวฮินดู เสมือนเทพเจ้าแห่งความอุดมสมบูรณ์

โครงการทำฝนเทียมในพระราชดำริของพระเจ้าอยู่หัว ถูกเชิดชูให้เป็นเทคโนโลยีที่แสนมหัศจรรย์ และได้รับการยกย่องว่าทรงมีความสามารถอันน่าอัศจรรย์ ในการที่ทรงหยั่งรู้สภาพดินฟ้าอากาศ ผู้โดยสารของการบินไทยได้ชมสารคดีเฉลิมพระเกียรติ 20 นาทีที่ยกคุณงามความดีถวายพระเจ้าอยู่หัวสำหรับฝนฟ้าทั้งหมดที่ตกลงมาในราชอาณาจักรไทยเพื่อหล่อเลี้ยงพืชพันธุ์ธัญญาหาร

โฆษณาทางโทรทัศน์อันแสนจะซาบซึ้งตรึงใจ ที่ฉายซ้ำแล้วซ้ำอีกไม่รู้เบื่อ เป็นภาพของชาวนายืนน่าเวทนาอยู่บนท้องนาที่แห้งแล้งแตกระแหงของเขา และ หยาดน้ำพระเนตรของพระเจ้าอยู่หัวก็ได้หลั่งลงมาเป็นสายพิรุณ ชาวนาก็กระโดดตัวลอยด้วยความตื่นเต้นตื้นตันใจอย่างท่วมท้นพร้อมเปล่งคำสรรเสริญพระบารมีขณะที่ท้องทุ่งนาชุ่มช่ำด้วยน้ำฝน

พระราชประสงค์ส่วนพระองค์ที่สำคัญที่สุด ก็คือการที่ได้ทรงเปิดใช้เขื่อนป่าสัก อันถือเป็นชัยชนะเหนือขบวนการนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และเพื่อตอกย้ำประเด็นนี้ รัฐบาลได้ออกแบบธนบัตรราคา 1,000 บาทใหม่ โดยมีภาพเขื่อนป่าสักคู่กับพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล

การน้อมถวายพระเกียรติอาเศียรวาทสดุดีพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลและสร้างความศักดิ์สิทธิ์ที่แสนจะงมงายและน่าเกลียดที่สุด คือการออกรางวัลสลากกินแบ่งก่อนวันที่ 5 ธันวาคม 2542 ในพระราชวโรกาศเฉลิมพระชนมพรรษาในครั้งนี้ได้สร้างความฮือฮาเกี่ยวกับตัวเลขมาก ซึ่งพระเอกคือเลข 9 ปีนั้นเป็นปี 1999 (ปีไทยคือ 2542) รัชกาลที่ 9 ครบรอบ 72 ปี ( 7 + 2 = 9 ) ฯลฯ

สลากกินแบ่ง งวดวันที่ 1 ธันวาคม 2542 เลขท้ายสามตัวออก 999 ถึงสองครั้ง เนื่องจากการออกรางวัลถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์และไม่น่าจะมีการโกง ไม่มีใครกล้าพูดว่ามันเป็นการโกงหรือล้อคเลขเพื่อเอาใจหรือเฉลิมพระเกียรติถวายพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล จึงต้องอธิบายว่ามันเป็นเรื่องฟ้าดินบันดาล เป็นพระบุญญาธิการความอภิมหาศักดิ์สิทธิ์ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชโดยแท้เทียว หนังสือพิมพ์พากันพาดหัวว่าเป็นเรื่องปาฏิหาริย์ ไม่มีการตั้งคำถาม และไม่มีข้อมูลว่ามีคนมากเท่าไหร่ที่ถูกหวยเลขที่ออกนี้

สองปีต่อมา มีคนวงใน คือกลม บางกรวย ถูกเปิดโปงว่าล้อคเลขสลากกินแบ่ง แต่ตำรวจบอกว่าเพิ่งทำเมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อนหน้าเท่านั้นเอง (จากผลการออกสลากกินแบ่งรัฐบาลรางวัลที่ หนึ่ง งวดประจำวันที่ 1 มิถุนายน 2544 เลขที่ออก 113311 )


ความเกินพอเพียงและเกินพอดีนี้ คงไม่ใช่ความผิดของวังไปเสียทั้งหมด
พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลมักจะทรงอนุญาตให้คนยกย่องสรรเสริญสดุดีพระองค์อย่างไรก็ได้ ตามแต่พวกเขาต้องการ แต่ที่น่าสนใจก็คือ บรรดาข้าราชบริพารของพระองค์ต่างแข่งกันแสดงความประจบสอพลอให้สอดคล้องกับพระราชอัธยาศัยของพระองค์


ในการบรรยายอย่างเป็นทางการแก่คนต่างชาติครั้งหนึ่ง ท่านผู้หญิง มรว.บุตรี วีระไวทยะ รองราชเลขาธิการ ผู้รับใช้ใกล้ชิดพระเจ้าอยู่หัวได้บรรยายว่าในหลวงทรงเป็นเทพเจ้าตามแบบของฮินดู และในการเดินสายไปยังชุมชนชาวไทยในต่างประเทศทั่วโลกเพื่อเรี่ยไรเงินเพื่อเสด็จพระราชกุศลของพระราชวงศ์นั้น

นายสุเมธ ตันติเวชกุลเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนาผู้รับใช้เบื้องยุคลบาทอย่างใกล้ชิดได้กล่าวเป็นนัยต่อผู้ฟัง ว่ามีเพียงพระเจ้าอยู่หัวพระองค์เดียวเท่านั้นที่ทรงช่วยประชาชนไทยหลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ และแทบจะไม่ได้พูดถึงสิ่งที่รัฐบาลได้กระทำเลย เขาว่ามีคนร้องไห้เมื่อได้ฟังเขาบรรยายและรีบบริจาคเงินให้โครงการในพระราชดำริทันที


ระหว่างนั้น
นายชุมพล ณ ลำเลียง กรรมการผู้จัดการเครือซีเมนต์ไทยผู้ใกล้ชิดวังได้อธิบายให้นักข่าวต่างชาติฟัง ถึงความสุดยอดของการปฏิบัติพระราชกรณียกิจที่เหนือกว่ารัฐบาลว่า “ เมื่อไหร่ที่เกิดหายนภัย พระเจ้าอยู่หัวไม่จำเป็นต้องทรงดูว่ามีงบประมาณหรือข้อจำกัดของไอเอ็มเอฟ IMF หรือไม่




ปี 2539 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ได้ทรงมอบหมายให้ผู้กำกับหนังชั้นนำ หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล สร้างหนังมหากาพย์เรื่องสมเด็จพระศรีสุริโยทัย โดยจัดงบสร้างหนังมโหฬารที่สุดในวงการหนังไทย 8 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่าสามร้อยล้านบาท โดยจัดสรรมาจากวังก่อน หนังเรื่องนี้มีความสำคัญต่อพระราชินีสิริกิติ์มาก เนื่องจากพระนางทรงเชื่อว่าเป็นพระสุริโยทัยที่กลับชาติมาเกิด

โดยทรงเลือกคุณหญิง มล.ปิยาภัสร์ ภิรมย์ภักดี ( ลูกสาวของม.ร.ว.ยงสวาสดิ์ และท่านผู้หญิงวิยะฎา กฤดากร ณ อยุธยา นางสนมคนสนิทของพระราชินี สมรสกับ นายจุตินันท์ ภิรมย์ภักดี รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัทบุญรอดบริวเวอรีเจ้าของเบียร์สิงห์ ) มาแสดงเป็นพระศรีสุริโยทัย แม้ว่ามล.ปิยาภัสร์จะไม่มีประสบการณ์ในการแสดง แต่พระราชินีสิริกิติ์ก็ทรงเลือกเธอ เพื่อไม่ให้สามัญชนมารับบทราชินีศรีสุริโยทัย โดยกำหนดเปิดฉายครั้งแรกในวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระเจ้าอยู่หัวในปี 2542




หนังเสร็จล่าช้า งบสร้างบานปลาย
ถึง 10 ล้านเหรียญสหรัฐหรือกว่าสี่ร้อยล้านบาท ราวห้าเท่าของหนังไทยเรื่องที่แพงที่สุด เมื่อออกฉายในเดือนสิงหาคม 2544 วังก็ลากบรรษัทยักษ์ใหญ่ของไทยมาร่วมแบกรับต้นทุน




เพื่อประกันความสำเร็จ วังจัดให้ภาพยนต์ศรีสุริโยทัยเข้าฉายนานหลายสัปดาห์ ทุกโรงพร้อมกันรวมทั้งโรงภาพยนต์ที่ปกติจะฉายแต่หนังฝรั่งสำหรับผู้ชมชาวต่างชาติ โดยเก็บค่าตั๋วแพงกว่าหนังไทยทุกเรื่อง แต่ก็ทำรายได้ดีจนผู้ลงขันอ้างว่าถอนทุนคืนได้

กล่าวในเชิงศิลปะแล้วเป็นภาพยนต์ที่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าใดนัก หนังยาวเกือบสี่ชั่วโมงซึ่งถือได้ว่ายาวเกินไปและดูยาก ค่อนข้างสับสน คนไทยเองก็ยังดูแล้วงงๆ ไม่แพ้คนต่างชาติ แต่นักวิจารณ์ภาพยนต์ก็พยายามเลี่ยง ไปชื่นชมเครื่องแต่งกายกับฉากอลังการ วังยังดิ้นรนเพื่อหาทางจัดจำหน่ายภาพยนต์ไปทั่วโลก ด้วยความช่วยเหลือจากฮอลลีวูด

วังเผชิญกระแสต่อต้านขัดขืนทัศนะและผลประโยชน์ที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆจากความเปลี่ยนแปลงสังคมที่กำลังเกิดขึ้น

มีการคัดค้านและนักวิจารณ์ที่กล้าคัดค้านโครงการก่อสร้างสะพานพระราม 8 ในพระราชดำริและการโจมตีสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่พยายามฟื้นรายได้ให้เป็นกอบเป็นกำเหมือนเดิม

มีคนต่อสู้คัดค้านแผนของสำนักงานทรัพย์สินฯบนที่ดินผืนใหญ่บนถนนสาทรแหล่งทำเลของธุรกิจการเงินการธนาคาร ซึ่งมีคฤหาสน์ไม้สักหลายหลังที่สืบย้อนไปถึงรัชกาลที่ 5 เมื่อสำนักงานทรัพย์สินฯให้นักพัฒนาที่ดินเช่าที่ดินโดยที่มีการวางผังที่จะรื้อถอนคฤหาสน์ไม้สักเหล่านี้ และสร้างศูนย์การค้าแห่งใหม่

ขณะที่บรรดาสถาปนิก และกรมศิลปากรต่างก็คัดค้านว่าควรอนุรักษ์อาคารเหล่านี้เอาไว้ ขณะที่คนอื่นๆ ก็เรียกร้องให้ใช้ที่ดินผืนนี้สร้างสวนสาธารณะ บางคนวิจารณ์การที่วังสนับสนุนการสร้างศูนย์การค้าในขณะที่บรรดาศูนย์การค้าเท่าที่มีอยู่แล้วยังมีปัญหาต้องดิ้นรนเพื่อให้อยู่รอด

โครงการสร้างเขื่อนในพระราชดำริของพระเจ้าอยู่หัวยิ่งได้รับการท้าทายมากกว่า ขบวนการคัดค้านของชาวบ้าน นักอนุรักษ์สิ่งเเวดล้อมเเละนักวิทยาศาสตร์ที่ร่วมมือกันต่อต้านโครงการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นในพระราชดำริได้แรงหนุนที่ทรงพลังจากงานการศึกษาของท่านผู้หญิงสุธาวัลย์ เสถียรไทย นักเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม ลูกสาวของท่านผู้หญิงบุษบาพระขนิษฐาของพระราชินีโดยท่านผู้หญิงสุธาวัลย์ได้โต้แย้งด้วยรายละเอียดที่น่าสนใจว่า

โครงการสร้างเขื่อนแก่งเสื้อเต้นแทบไม่มีเหตุผลสนับสนุนในเชิงเศรษฐศาสตร์เลย ความเห็นดังกล่าวได้ช่วยยับยั้งชะลอโครงการออกไป

โครงการเขื่อนท่าแซะจังหวัดชุมพรที่มีพระราชดำริหลังเกิดพายุไต้ฝุ่นเกย์เพื่อป้องกันน้ำท่วม แต่ประชาชนแสดงการต่อต้านอย่างเปิดเผย บีบให้รัฐบาลหยุดส่งนักสำรวจมาสำรวจพื้นที่ และจับตัวเจ้าหน้าที่สองรายจากโครงการพระราชดำริก็ยังคงเข้าไปไว้หลายวัน

หลังจากนั้นพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลก็ทรงหันไปเลือกสร้างเขื่อนตรงจุดอื่น ทรงพบว่ากรมป่าไม้ได้ขอให้ลดขนาดเขื่อนลง เพื่อจำกัดบริเวณป่าสงวนที่จะถูกน้ำท่วมจากการสร้างเขื่อน

แต่มีนักการเมืองบางคนที่หาญกล้าท้าทายพระราชประสงค์ คือปลายปี 2542 นายปราโมทย์ ไม้กลัด ผู้เชี่ยวชาญและรับใช้ในหลวงใกล้ชิดได้ถูกรัฐมนตรีสั่งปลดจากอธิบดีกรมชลประทาน คำสั่งอย่างนี้ไม่ใช่เรื่องธรรมดาและชัดเจนว่าเกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชั่น แต่ สิ่งที่สำคัญคือนายปราโมทย์รับใช้ใกล้ชิดพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลและไม่มีใครกล้าเเตะต้อง

ยังมีการสร้างความระคายเคืองต่อเบื้องพระยุคลบาทเรื่องอื่นๆ อีก คือ ปี 2542 สำนักข่าวบีบีซีของอังกฤษได้นำสารคดีที่ได้รับสิทธิพิเศษเข้าไปถ่ายทำในงานพระศพพระราชชนนีศรีสังวาลย์ออกฉาย โดยทางวังเข้าใจว่าจะมีการเสนอภาพของพระราชชนนีในทำนองแบบเดียวกับแม่ชีเทเรซา ( Mother Teresa ) ( 2453 - 2540 ) นักบุญหญิงผู้โด่งดังระดับโลก




แต่ภาพที่ออกมากลับเป็น
การตรวจสอบวิเคราะห์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ ถึงจะยังแสดงความเคารพเทิดทูนและพยายามพูดในแง่ดี แต่ก็ยังกล้าตั้งคำถามเกี่ยวกับบทบาทของวัง พร้อมทั้งไปสัมภาษณ์นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ นักวิจารณ์เจ้าขาประจำ



มีหนังบริษัททเวนตี้เซนจูรี่ฟ็อกซ์เรื่องแอนนาแอนด์เดอะคิง Anna and The Kingอ้างอิงจากบันทึกครูชาวอังกฤษประจำราชสำนักรัชกาลที่ 4 นางแอนนา เลียวโนเวนส์ Anna Leonowens (ต้นกำเนิดหนังละครเพลงเดอะคิงแอนด์ไอ The King and I)




เป็นเวลาหลายสิบปีที่
พระราชวังของไทยได้ปฏิเสธงานเขียนของเธอว่าเป็นเรื่องแต่งหรือเป็นเรื่องโกหกทั้งสิ้น เพราะนางเลียวโนเวนส์ไม่ได้ยกย่องสดุดีเทิดพระเกียรติรัชกาลที่สี่ให้เจิดจ้าสมกับเป็นพระมหากษัตริย์ของไทย



บริษัทฟ็อกซ์ต้องการถ่ายภาพยนต์ฟอร์มใหญ่นี้ในพระบรมมหาราชวังที่กรุงเทพฯบริเวณวัดพระแก้ว แต่ทางวังไม่ยอมและใช้อำนาจให้คณะกรรมการภาพยนต์ไม่อนุญาตให้มีการถ่ายทำภาพยนต์ในประเทศไทย เพราะวังถือว่าเป็นการหมิ่นพระเกียรติสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย บทภาพยนต์ไม่ได้เทิดทูนรัชกาลที่สี่ตามประเพณีของไทย ผู้กำกับไม่ใช่คนไทย


ฟ็อกซ์เอาดาราดังฮ่องกง โจวเหวินฟะ Chow Yun-Fat แสดงเป็นรัชกาลที่สี่โดยมีโจดี้ ฟอสเตอร์ Jodie Foster ดาราระดับโลก แสดงเป็นนางแอนนา


เป็นสิ่งที่ทางวังรับไม่ได้ จึงต้องยกกองถ่ายไปถ่ายทำที่ประเทศมาเลเซียโดยมีคนไทยบางคนไปร่วมงานสร้างภาพยนต์นี้ด้วย กลายเป็นภาพยนต์ที่พึลึกมาก เพราะตัวละครที่เล่นเป็นคนไทยกลับพูดไทยไม่ค่อยได้เพราะส่วนใหญ่เป็นคนมาเลย์


เมื่อภาพยนต์ออกฉายปลายปี 2542 ก็
ถูกห้ามฉายในไทย ด้วยเหตุผลหยุมหยิมไร้สาระอ้างปัญหาสารพัด ทั้งๆที่มิได้ล่วงเกินสถาบันพระมหากษัตริย์จนน่าเกลียดและมีคุณภาพปานกลางพอชมได้ แต่มันก็กระตุ้นความเห็นต่อประเด็นจริงๆ คือ ประวัติศาสตร์ไทยฉบับไหนกันแน่ที่ถูกต้อง ของวังหรือของคนอื่นๆ



ดร. ธงชัย วินิจจะกูล
อดีตนักศึกษาผู้เคยร่วมเหตุการณ์หกตุลาและสอนในมหาวิทยาลัยที่สหรัฐฯ ได้เขียนไว้ว่าประวัติศาสตร์ของทางการไทยไม่ได้อยู่บนพื้นฐานความจริงพอๆกับของฮอลลีวูด





ดร.ธงชัยชี้ว่ารัชกาลที่สี่ในหนังแอนนาแอนด์เดอะคิงนั้นหล่อมากซึ่งตรงข้ามกับพระองค์จริงของรัชกาลที่สี่ที่ค่อนข้างชราและไม่ได้ทรงหล่อเหลาแม้แต่สักนิด







พร้อมทั้งประชดว่า “ คณะกรรมการภาพยนตร์สั่งห้ามหนังเรื่องนี้เพราะว่ามันทำให้รัชกาลที่สี่ดูสง่างามหล่อเหลาหน้าตาดีมากเกินไป จึงเป็นการคลาดเคลื่อนจากประวัติศาสตร์อย่างนั้นหรือ

หากเราให้ความสำคัญกับความถูกต้องทางประวัติศาสตร์จริงๆ กระทรวงศึกษาธิการกับบรรดาตำราเรียนประวัติศาสตร์สำหรับโรงเรียนทั้งหมดควรจะถูกโละทิ้งไปก่อนเลย เรื่องทั้งหมดคือจะชอบเรื่องแต่งฉบับไหนมากกว่ากัน ที่จะอนุญาตให้คนไทยได้บริโภค”


ปี 2543 เป็นปีครบรอบ
ร้อยปีชาตกาลของนายปรีดี พนมยงค์ ผู้สนับสนุนนายปรีดีต้องการใช้โอกาสนี้ฟื้นฟูชื่อเสียงเกียรติคุณนายปรีดี


แต่ก็เป็นปีครบรอบร้อยปีชาตกาลพระราชชนนีศรีสังวาลย์เช่นกัน เเละวังต้องการสร้างความสนใจทั้งหมดให้มุ่งไปที่พระราชชนนีศรีสังวาลย์เท่านั้น เกิดศึกแย่งชิงบุญบารมีว่าใครจะได้เป็นบุคคลสำคัญของโลก โดยฝ่ายผู้สนับสนุนนายปรีดีเริ่มเคลื่อนไหวก่อนตั้งแต่ปี 2540 โดยผลักดันให้รัฐบาลวางแผนจัดงานรำลึก ออกแสตมป์ หรือกระทั่งพิมพ์ธนบัตรรูปนายปรีดี และเสนอชื่อนายปรีดีให้อยู่ในรายชื่อบุคคลสำคัญแห่งศตวรรษที่ 20 ของยูเนสโกUNESCO ในวาระขึ้นสหัสวรรษใหม่หรือขึ้นปี 2000



เมื่อข้าราชบริพารในวังได้พบเห็นเข้า พวกเขาหาทางสกัดด้วยการจองที่จองทางทั้งปีเพื่อ
จัดงานใหญ่สำหรับพระราชชนนีศรีสังวาลย์ และเสนอชื่อพระราชชนนีถึงองค์การยูเนสโก ทั้งๆที่พระราชชนนีแทบไม่เป็นที่รู้จักนอกราชอาณาจักรไทย







แต่วังกลับมองว่าเป็นสิทธิโดยชอบธรรมของประเทศไทย เพราะประเทศไทยก็เคยเสนอชื่อไปในครั้งก่อนต่อยูเนสโกในปี 2535 ซึ่งก็
ไม่เป็นที่รู้จักเสียยิ่งกว่าพระราชชนนี นั่นคือ สมเด็จพระราชบิดาเจ้าฟ้ามหิดลนั่นเอง


การต่อสู้กอบกู้ชื่อเสียงของนายปรีดีได้กระทำผ่านการผลิตหนังสือ การประชุมทางวิชาการ และบทความต่างๆเกี่ยวกับนายปรีดี ท้าทายและโต้แย้งทัศนะของทางการที่กล่าวหาว่านายปรีดีเป็นคนทรยศต่อประเทศชาติ มีการชี้แจงและเปิดโปงเล่ห์เพทุบายและการใส่ความที่ทำให้นายปรีดีต้องมีมลทินในกรณีสวรรคตของในหลวงอานันท์ และเชิดชูเน้นย้ำความเป็นนักประชาธิปไตยและการเป็นผู้นำขบวนการเสรีไทย


ทางวังดิ้นรนตอบโต้ขนานใหญ่ด้วยการระดมการโฆษณาประชาสัมพันธ์ทั้งทางวิทยุและโทรทัศน์ด้วยการโหมโฆษณาราคาแพงที่มุ่งยกย่องเทิดทูนสดุดีสมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ ผลการรณรงค์แข่งขันปรากฏว่าเสมอกัน คืองานยกย่องสดุดีนายปรีดีไม่ถูกสกัดกั้น แต่วังก็ไม่ได้สนใจหรือสนับสนุนแม้แต่น้อย
ทั้งนายปรีดี และพระราชชนนีศรีสังวาลย์ต่างก็ได้รับการเสนอชื่อแก่ยูเนสโกทั้งคู่ แต่วังประโคมโฆษณาแต่เฉพาะพระราชชนนีสังวาลย์เท่านั้ โดยที่นายปรีดีหมดสิทธิหมดโอกาสเผยโฉมบนแสตมป์ ธนบัตร ตลอดจนวิทยุ โทรทัศน์และตำราเรียน ขณะที่พระราชชนนีศรีสังวาลย์ทรงได้รับการโฆษณาเผยแพร่ปรากฏในทุกช่องทาง


ทำให้
ชื่อเสียงและเกียรติคุณที่ได้รับการชำระตรวจสอบแล้วของนายปรีดีถูกจำกัดให้รับรู้แต่ในเฉพาะในหมู่ชนชั้นกลางและชั้นสูงในเมืองที่มีการศึกษาที่ได้อ่านสื่อสิ่งพิมพ์ในกรุงเทพฯเท่านั้น ส่วนประชาชนที่เป็นฐานเสียงสำคัญของวัง นักเรียนและชาวบ้านต่างจังหวัดก็จะรู้จักอยู่แต่บุคคลสำคัญที่เป็นพระราชวงศ์เท่านั้น




แต่ก็มีบรรยากาศความเสื่อมถอยของวังโชยมา ทำให้ในส่วนของวังต้องเร่งรีบที่จะเข้าไปยึดกุมจิตใจคนไทยให้มากขึ้นโดยเฉพาะในหมู่วัยรุ่นที่ไม่ค่อยสนใจเรื่องราวในอดีต เนื่องจากจะเป็นกลุ่มเป้าหมายในระยะยาวต่อไปในอนาคต


ในอีกฝ่ายหนึ่งสำหรับคนไทยที่อัดอั้นมานานก็เริ่มจะใช้โอกาสในจังหวะที่วังเริ่มเหนื่อยล้าจากการสร้างภาพมานานด้วยการเสนอทัศนะที่สวนทางกับทางวัง ด้วยพระชนมายุที่ย่างเข้าสู่วัยชราของพระเจ้าอยู่หัว และการที่ได้ทรงครองราชย์มายาวนาน รวมทั้งพระราชอุตสาหะวิริยะในการช่วยเหลือเหล่าพสกนิกร ทำให้พระองค์ทรงสถิตย์เหนือผู้ใดในผืนแผ่นดินไทยโดยมิอาจมีผู้ใดทัดเทียมได้

แต่เป็นที่ชัดเจนว่าราชวงศ์จักรีรุ่นต่อไปจะต้องเผชิญความยากลำบากในการสร้างและพิสูจน์ตนเองให้ทัดเทียมในหลวงรัชกาลที่เก้า


วังเริ่มเตรียม
การสืบราชบัลลังก์ เพราะตระหนักดีว่าชื่อเสียงอันฉาวโฉ่ของฟ้าชายวชิราลงกรณ์อาจนำไปสู่ปัญหายุ่งยากได้ วังจึงต้องกำกับดูแลทิศทางเพื่อควบคุมกระบวนการนี้ให้แน่ใจว่ากลุ่มกำลังฝักฝ่ายอื่นๆในวงราชการและกองทัพ นักการเมืองและสาธารณชนทั่วไปจะไม่มีทางเข้ามาแทรกแซงได้ และรัชทายาทยังคงเป็นฟ้าชายวชิราลงกรณ์
แม้ประชาชนส่วนใหญ่จะนิยมฟ้าหญิงสิรินธรอย่างต่อเนื่อง รัฐธรรมนูญได้จัดลำดับให้ฟ้าชายวชิราลงกรณ์เป็นองค์รัชทายาทในอันดับที่หนึ่ง

แต่ก็ยังให้เป็นพระราชอำนาจของพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลที่จะทรงโปรดเกล้าฯแต่งตั้งรัชทายาทได้ตามพระราชอัธยาศัย ซึ่งทำให้เกิดคำถามว่าหากพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลสวรรคตและการสืบราชสมบัติไม่เป็นไปตามพระราชประสงค์ของพระองค์ อย่างที่เกิดขึ้นในสมัยปลายรัชกาลที่ 3 และ 4

เพื่อเป็นหลักประกันว่าจะมีการปฎิบัติตามพระราชประสงค์พระองค์จึงได้ทรงสร้างกองกำลังองคมนตรีมาเป็นกำแพงรายรอบพลเอกเปรม โดยพลเอกเปรมได้เลือกคนมาเป็นองคมนตรีหลายคนจากบรรดาลูกน้องของตนในวงราชการและหน่วยงานความมั่นคงของตนเอง พระเจ้าอยู่หัวได้ทรงโปรดเกล้าฯแต่งตั้งผู้พิพากษาที่พระองค์ทรงเชื่อใจสองรายและเจ้าด้วยกันเองส่วนหนึ่งให้เป็นองคมนตรีในช่วงทศวรรษ 2530

แต่พอถึงปี 2543 คนของพลเอกเปรมก็นั่งกันอยู่เต็มสภาองคมนตรี แสดงให้เห็นว่าพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลทรงไว้วางพระทัยในตัวพลเอกเปรมอย่างเต็มที่ หน้าที่หลักอีกอย่างหนึ่งของพลเอกเปรมคือการยึดกุมการบังคับบัญชาในกองทัพ และจัดการดูแลสนับสนุนให้คนของตนเองได้เติบโตเลื่อนขั้นชั้นยศ

นี่เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งเนื่องจากเชื่อกันว่ากองทัพแยกเป็นพวกของฟ้าหญิงสิรินธรกับพวกของฟ้าชายวชิราลงกรณ์ ซึ่งอาจเป็นอันตรายอันตรายอย่างยิ่งในเวลาที่ต้องหารัชทายาทที่จะมาสืบราชบัลลังก์


เพื่อป้องกันปัญหาให้การสืบราชสมบัติเป็นไปอย่างราบลื่น ทางวังจึงต้องสร้างสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้นำการเมืองและผู้นำธุรกิจรุ่นใหม่ ต้องยกภาพลักษณ์ของฟ้าชายวชิราลงกรณ์ให้ดูเหมาะสมที่จะเป็นกษัตริย์มากขึ้น ขณะเดียวกันก็ต้องคอยระวังให้ฟ้าชายพอพระทัยและไม่ทรงก่อปัญหาอยู่ตลอดเวลาอย่างที่เคยเป็นมา


สำนักพระราชวังเริ่มโหมงาน
โฆษณาพระราชวงศ์รุ่นใหม่คือรุ่นพระเจ้าหลานเธอในภาพลักษณ์สมัยใหม่ พระราชวงศ์องค์สำคัญๆต่างต้องมีการสืบสานกับเส้นสายกองทัพ โดยฟ้าชายวชิราลงกรณ์ต้องทรงร่วมงานพิธีของกองทัพมากขึ้น และยังดำรงตำแหน่งผู้บังคับบัญชากองทหารราชองครักษ์ที่รักษาพระราชวัง





ฟ้าหญิงสิรินธรทรงเป็นพระอาจารย์บรรยายที่โรงเรียนนายร้อยจปร.
และทรงเป็นประธานในพิธีจบการศึกษา





กิจกรรมต่างๆ ของ
พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภาผู้อาวุโสที่สุดในรุ่นพระเจ้าหลานก็ยังต้องเกี่ยวพันกับกองทัพและยังมีแฟนเป็นทหารอีกด้วย






ในระหว่างนั้นฟ้าชายวชิราลงกรณ์กับพระราชินีสิริกิติ์ก็ทรงเสด็จงานมวลชนกับลูกเสือชาวบ้านตามงานพิธีและกิจกรรมต่างๆทั่วประเทศ ทรงยกลูกเสือชาวบ้านให้มีความสำคัญทางการเมืองอีกครั้งหลังจากสงบนิ่งมาหลายปี วังได้ปกป้องจัดวางคนของตนไว้ในตำแหน่งและอำนาจต่างๆที่นอกเหนือจากกองทัพ

องคมนตรีกับบริวารของพระเจ้าอยู่หัวได้เข้าไปนั่งในบอร์ดของบริษัทยักษ์ใหญ่และรัฐวิสาหกิจต่างๆ




แม้แต่
นายปราโมทย์ ไม้กลัดที่ถูกปลดจากตำแหน่งอธิบดีกรมชลประทานก็ได้รับการเลือกตั้งเป็นวุฒิสมาชิกในเดือนมีนาคม 2543 ด้วยคะแนนมากเป็นอันดับหนึ่งในกรุงเทพมหานคร




วังหาทางฟื้นฟูรายได้หลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ แม้ว่าทรัพย์สินของวังได้รับการแก้ปัญหาไปแล้วเมื่อปี 2543 แต่ด้วยเศรษฐกิจที่ยังอ่อนเปลี้ยซบเซา ทำให้ผลกำไรและเงินปันผลที่วังได้รับมีเพียงเล็กๆน้อยๆ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จึงพยายามนำที่ดินที่ว่างอยู่ออกมาปล่อยให้เช่าพร้อมกับเพิ่มค่าเช่าจากที่ดินที่ให้เช่าอยู่แล้ว

ในปี 2543 สำนักงานทรัพย์สินฯ วางแผนที่จะเพิ่มรายได้จากการเก็บค่าเช่าจาก 300 ล้านบาทต่อปีเป็น1,000 ล้านบาทภายในห้าปี นายจิรายุ อิศรางกูร ผอ. สำนักงานทรัพย์สินฯ อธิบายว่าเป็นเพียงการแก้ไขการบิดเบือนกลไกตลาดอันเป็นผลมาจากเก็บค่าเช่าที่ต่ำเกินไปของสำนักงานทรัพย์สินฯ

แผนนี้ยังรวมถึงการเพิ่มค่าเช่าที่เก็บจากรัฐบาล แม้ว่ารัฐบาลจะขาดดุลย์งบประมาณมาตลอดตั้งแต่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจก็ตาม นายจิรายุยืนยันว่าวังยังคิดค่าเช่าถูกกว่าผู้ให้เช่ารายอื่นๆ แต่เขาไม่ได้อธิบายว่าทำไมสำนักพระราชวังของกษัตริย์ภูมิพลจึงต้องเพิ่มภาระแก่รัฐบาล

นอกจากการหาผลประโยชน์ทางธุรกิจแล้ว วังยังเสริมงานการกุศลด้วยการปรับปรุงวงจรการเสด็จพระราชกุศล



รายการข่าวในพระราชสำนักเกือบทุกคืน
จะมีภาพบุคคล นักธุรกิจและผู้มีชื่อเสียงในสังคมทยอยเข้าถวายเงินแด่พระเจ้าอยู่หัว พระราชินี ฟ้าชายวชิราลงกรณ์ หรือไม่ก็ฟ้าหญิงสิรินธร


นอกจากนี้วังได้เร่งขยายการเรี่ยไรเงินจากคนไทยในต่างประเทศ โดยเน้นว่าประเทศกำลังเข้าตาจน เงินจากการเรี่ยไรไม่ได้เข้ารัฐบาล แต่ไหลเข้าสู่การกุศลตามพระราชอัธยาศัยของวัง และยังมีการระดมทุนในรูปเเบบการขายเหรียญ ขายพระ ขายพระพุทธรูปเเละหนังสือที่ระลึกอีกด้วย

ปี 2541 พระเจ้าอยู่หัวพระราชทานสัญลักษณ์ครุฑเรียกว่าครุฑพ่าห์ หรือครุฑในลักษณะที่เป็นพาหนะพระนารายณ์แก่บริษัทใหญ่ที่ถวายเงินแด่พระองค์ โดยที่ไม่เคยมีการพระราชทานครุฑพ่าห์มานานนับสิบปีแล้ว

เดือนพฤษภาคม 2543 ธนาคารแห่งประเทศไทยเปิดการประมูลธนบัตรที่ระลึกการฉลองอภิเษกสมรสครบ 50 ปี เงินที่ได้จากการประมูลไม่ได้เข้ารัฐบาลแต่เข้าโครงการเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย มหาเศรษฐีชั้นแนวหน้าที่ล้อมหน้าล้อมหลังพระราชินีสิริกิติ์ต้องบริจาคเงินถึง 5 ล้านบาทประมูลซื้อธนบัตรราคา 5 แสนบาท

คนไทยมีชีวิตใต้การปกครองของพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชและมีน้อยคนที่คิดถึงพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลถัดไป แต่มีอยู่คนหนึ่งที่วางแผนเพื่อพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลต่อไป และพร้อมจะใช้ประโยชน์จากราชบัลลังก์นี้ ขณะที่การขึ้นครองราชย์ของฟ้าชายวชิราลงกรณ์เป็นเรื่องเสี่ยงมาก


เขาคือมหาเศรษฐีธุรกิจโทรคมนาคมและนักการเมืองระดับนำที่ชื่อ พตท. ทักษิณ ชินวัตร ที่ทุ่มเททรัพย์สินสร้างพรรคการเมืองขนาดใหญ่และได้เป็นนายกรัฐมนตรี ในเดือนมกราคม 2544

และยังเข้าไปแทรกการเมืองของกองทัพและของวัง โดยตีสนิทใกล้ชิดกับฟ้าชายวชิราลงกรณ์อย่างไม่น่าไว้ใจ ทำให้หลายคนกังวลว่าอาจจะมีความมักใหญ่ใฝ่สูงแบบจอมพลป.พิบูลสงคราม ที่เคยประลองกำลังกับในหลวงภูมิพลมาแล้ว

พรรคไทยรักไทยของ พตท.ทักษิณเป็นพรรคที่มีฐานมวลชนกว้างใหญ่ด้วยสมาชิกพรรคถึง 11 ล้านคน จึงเป็นพรรคการเมืองที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทย

พตท.ทักษิณมีภาพวาดจำลองในบ้านจากภาพถ่ายที่แสดงถึงพระราชกรณียกิจที่ในหลวงทรงตรากตรำงานหนักด้วยความห่วงใยพสกนิกร พตท.ทักษิณก็ได้สร้างภาพลักษณ์ของตนในแบบเดียวกัน


พตท.ทักษิณต่างจากจอมพลป. ตรงที่ใช้เงินซื้อใจวัง ช่วงต้นทศวรรษ 2530 พตท.ทักษิณทุ่มเงินบริจาคจนได้เข้าไปอยู่ในแวดวงของพระราชินีสิริกิติ์และใกล้ชิดกับฟ้าหญิงอุบลรัตน์ ข่าวว่าพตท.ทักษิณเป็นนายทุนสนับสนุนการแสดงเปียโนของคุณพลอยไพลิน มีข่าวลือว่าเขากับฟ้าหญิงอุบลรัตน์มีความสัมพันธ์ลึกซึ้ง

พตท.ทักษิณใช้ความร่ำรวยตีสนิทกับฟ้าชายวชิราลงกรณ์อย่างมองการณ์ไกล ปลายทศวรรษ 2530 คนกรุงเทพฯพูดถึงเรื่องที่พตท.ทักษิณช่วยออกค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ให้กับฟ้าชายวชิราลงกรณ์ เช่น การตกแต่งปรับปรุงวังศุโขทัยที่ฟ้าชายวชิราลงกรณ์ประสงค์ย้ายเข้าประทับ(สมเด็จพระศรีพัชรินทราโปรดให้สร้างวังศุโขทัยเป็นของขวัญการอภิเษกสมรสของกรมขุนสุโขทัยธรรมราชากับหม่อมเจ้ารำไพพรรณี เมื่อ2461)


ในตอนนั้นวังศุโขทัยยังเป็นของฟ้าหญิงสิรินธร แต่เมื่อฟ้าหญิงสิรินธรยอมยกให้พระเชษฐา ฟ้าหญิงสิรินธรก็ได้รับวังสระปทุมของพระนางเจ้าสว่างวัฒนาผู้เป็นย่ามาแทน ซึ่งว่ากันว่าปรับปรุงตกแต่งใหม่ด้วยเงินของพตท.ทักษิณเช่นกัน


พตท.ทักษิณยังช่วยสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โดยได้กุมสื่อไปด้วย แหล่งเงินกู้ที่ใหญ่ที่สุดและเป็น
ผู้ถือหุ้นสำคัญของสถานีโทรทัศน์ไอทีวีคือธนาคารไทยพาณิชย์ และแปซิฟิคคอมมิวนิเคชันส์ของแม่ทัพด้านการประชาสัมพันธ์ของวังคือนายปีย์ มาลากุลถือหุ้นอยู่จำนวนมาก



ผู้ถือหุ้นใหญ่อีกรายหนึ่งคือเครือเนชั่นของนายสุทธิชัย หยุ่น แต่หลังจากการลดค่าเงินบาทและเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ โรคต้มยำกุ้ง ทำให้ไอทีวีประสบปัญหาอย่างหนัก เครือเนชั่นเสนอตัวจะเทคโอเวอร์กิจการทั้งหมด แต่ในปี 2543 ธนาคารไทยพาณิชย์กลับยืนกรานที่จะขายให้พตท.ทักษิณ ซึ่งในตอนนั้นสถานีโทรทัศน์ทั้งหมดของไทยประสบการขาดทุน และไอทีวีแทบไม่มีอนาคตและไม่มีมูลค่าใดๆ มากไปกว่าอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือ


แทนที่พตท.ทักษิณจะตั้งสถานีโทรทัศน์ของตนเองขึ้นใหม่ได้ง่ายๆ แต่เขา
กลับจ่ายให้ธนาคารไทยพาณิชย์ 60 ล้านเหรียญหรือกว่าสองพันห้าร้อยล้านบาทซื้อหุ้นไอทีวี นั่นคือพตท.ทักษิณได้ช่วยเหลือธนาคารไทยพาณิชย์กับวัง โดยแทบจะไม่มีโอกาสถอนทุนคืน



พตท.ทักษิณได้
ใช้ไอทีวีเป็นฐานสนับสนุนการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งนำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์อ้อมๆว่าวังสนับสนุนพตท.ทักษิณจากการขายไอทีวีให้ นายปีย์ มาลากุลก็วิจารณ์การใช้ประโยชน์จากการเป็นเจ้าของสถานีโทรทัศน์ของพตท.ทักษิณ ด้วยเช่นกัน

พตท.ทักษิณจึงบีบนายปีย์และบริวารคนอื่นๆ ของวังเช่น
ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล ออกไปจากไอทีวี เรื่องไอทีวีนี้แสดงให้เห็นว่าพตท.ทักษิณจะสนองความต้องการของวังตราบเท่าที่วังยังตอบสนองความต้องการของเขา แต่หากผลประโยชน์สองฝ่ายไม่ลงตัวหรือผลประโยชน์ขัดกันแล้วคุณทักษิณก็ไม่ถือเป็นธุระที่จะต้องรับใช้วัง

ยิ่งกว่านั้นคุณทักษิณก็ไม่ไว้หน้าวังโดยแสดงออก อย่างเปิดเผย ตลอดจนมีท่าที ที่จะชักใยพระราชวงศ์ให้กระทบกระทั่งขัดแย้งกันเอง โดยเฉพาะฟ้าชายวชิราลงกรณ์กับพระราชินีสิริกิติ์เป็นฝ่ายหนึ่งและพระเจ้าอยู่หัวกับฟ้าหญิงสิรินธรก็เป็นอีกฝ่ายหนึ่ง

หลังจากที่พตท.ทักษิณได้เป็นนายกรัฐมนตรีก็ได้พยายามประจบประแจงวังในเชิงสัญลักษณ์โดยในการประกาศนโยบายเศรษฐกิจตามเบื้องพระยุคลบาท นายกทักษิณได้อ้างพระราชดำรัสกล่าวหานักลงทุนต่างชาติเอาเปรียบไทย แม้ว่านายกทักษิณเองก็ต้องพึ่งพาต่างชาติอย่างมากในด้านอุปกรณ์เครื่องมือ บริการ เนื้อหาและการเงิน และนายกทักษิณยังบอกว่าไทยควรจะพึ่งพาตนเองและเป็นอิสระจากเศรษฐกิจโลกมากขึ้น เขาประกาศแนวทางช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมหัตถกรรมระดับหมู่บ้านและโครงการพึ่งตนเองอื่นๆ

เขาตั้งรัฐมนตรีมหาดไทยคือ รตอ. ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ที่รณรงค์จัดระเบียบสังคมแม้จะมากไปหน่อยจนได้รับสมญาว่าเป็นไม้บันทัดเหล็ก ซึ่งเป็นการรับสนองพระราชดำรัสที่ได้ทรงตำหนิว่าสังคมไทยตามใจตนเองมากเกินไป รัฐบาลทักษิณยังเพิ่มการใช้โทษประหารชีวิตสำหรับผู้ค้ายาเสพติดและในคดีฆาตกรรมบางคดี และเร่งรัดโทษประหาร ด้วยการเร่งรัดเรื่องนี้ด้วยตัวเองด้วยท่าทียอมรับจากวัง

นายกทักษิณได้ปกป้องพระเกียรติยศของพระเจ้าอยู่หัวขณะที่ตนเองเป็นคนลงมือทำสนองพระราชประสงค์ทุกประการ ขณะเดียวกันในตอนแรก นายกทักษิณมีคนของวังทำงานในรัฐบาลเป็นจำนวนมากโดยที่มีการเลื่อนคนของตนเองขึ้นมาด้วย

นายกทักษิณเอาใจวังด้วยการแต่งตั้งคนอย่างนายธงทอง จันทรางศุ นักนิยมกษัตริย์ยุคใหม่ขี้นมาอยู่ในตำแหน่งสูงในกระทรวงยุติธรรม นักสังเกตการณ์ทางการเมืองเชื่อว่านี่เป็นประโยชน์ต่อทักษิณในช่วงแรก แต่ไม่กี่เดือนหลังรับตำแหน่งในปี 2544 นายกทักษิณต้องเจออุปสรรคจากการถูกตั้งข้อหาละเมิดรัฐธรรมนูญที่จะตัดสิทธิทางการเมืองของคนที่ถือหุ้นในธุรกิจสัมปทานรัฐ ซึ่งก็คือบริษัทชินวัตรของนายกทักษิณในข้อหาซุกหุ้น หรือให้คนรับใช้ถือหุ้นแทน

คดีเข้าไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ และเชื่อกันว่าการเข้ามาสอดแทรกของพลเอกเปรมที่ทำให้ผลพลิกมาข้างทักษิณโดยชนะไปหนึ่งเสียง และหนึ่งเสียงนั้นก็เชื่อกันว่าคือหนึ่งในผู้ร่างรัฐธรรมนูญและเป็นคนของพลเอกเปรมคือนายกระมล ทองธรรมชาติ ที่มีรายงานว่ามีการเปลี่ยนการออกเสียงในนาทีสุดท้าย พลเอกเปรมกับวังคงนึกว่าจะสร้างพันธไมตรีระหว่างวังและผู้นำพลเรือน ซึ่งผิดถนัด เพราะนายกทักษิณไปไกลกว่าพลเอกเกรียงศักดิ์กับพลเอกชาติชายที่ไม่อิงวัง

นายกทักษิณได้ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ของวังกลายเป็นพรรคฝ่ายค้านตลอดกาลที่ไม่มีความหมายอีกต่อไปแล้ว และปล่อยให้วังอยู่กับพิธีกรรมและสัญลักษณ์ต่างๆต่อไป และพยายามกันวังออกจากงานเชิงการเมืองและงานด้านสังคม นายกทักษิณยิ่งแสดงถึงความขยันขันแข็งที่จะใช้ประโยชน์จากสถาบันกษัตริย์ในเวลาที่เป็นคุณกับตนเอง



ด้วยการที่
พระเจ้าอยู่หัวกึ่งๆที่จะทรงเกษียณและพลเอกเปรมก็ไม่ได้กุมราชการเเละกองทัพอีกเเล้ว นายกทักษิณจึงทำอะไรก็ได้ตามที่ตนต้องการ ทั้งๆที่ถูกพระเจ้าอยู่หัวทรงแขวะเอาอยู่หลายครั้งในช่วงสี่ปีแรก และถูกกล่าวหาว่ามีการทุจริตไม่แพ้รัฐบาลก่อนๆ




แต่นายกทักษิณก็ยังชนะถล่มทลายในการเลือกตั้งปี 2548 ซึ่งชี้ว่าเขาประสบความสำเร็จในการท้าทายอำนาจพระเจ้าอยู่หัว ทำนองเดียวกับพระเจ้าตากสินที่มีพระนามคล้ายๆกัน


นายกทักษิณถูกทำลายโดยความเชื่อมั่นในตนเอง ในปลายปี 2548 มีการสร้างกระแสชนชั้นกลางในเมืองเรียกร้องให้พระเจ้าอยู่หัวปลดนายกทักษิณโดยการแทรกแซงและแอบอ้างพลังของมวลชนเหมือนที่วังได้เคยทำมาหลายครั้งในอดีต

ถึงแม้ว่าวังจะไม่ชอบคุณทักษิณเลย แต่นายกทักษิณได้รับการเลือกตั้งมาอย่างชอบธรรมและได้รับการสนับสนุนอย่างเข้มแข็งในต่างจังหวัด ซึ่งแต่ไหนแต่ไรมาเป็นฐานเสียงของพระเจ้าอยู่หัว


ยิ่งกว่านั้น แนวร่วมนิยมกษัตริย์ของคนเมืองสวมเสื้อเหลืองที่อ้างว่า
เราจะสู้เพื่อในหลวง ถูกนำโดยคนสองคนที่เอาแน่นอนไม่ได้ ชนิดที่วังเองก็ไม่อยากจะข้องแวะด้วย คือ นายสนธิ ลิ้มทองกุลและพลตรีจำลอง ศรีเมือง


แรงกดดันเพิ่มจนท่วมท้นในต้นปี 2549 นายกทักษิณประกาศยุบสภาให้มีการเลือกตั้งใหม่เพื่อพิสูจน์ว่าตนยังได้รับการสนับสนุนจากคนชนบท

แต่หนึ่งวันหลังจากประกาศชัยชนะ นายกทักษิณได้เข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวและได้กลับออกมาแถลงด้วยน้ำตาคลอว่าเขาจะไม่ได้เป็นนายกฯอีก นายกทักษิณและพระเจ้าอยู่หัวจะพูดอะไรกันนั้นไม่มีใครรู้ชัดเจน แต่คนทั่วไปก็พอจะรู้สึกได้ชัดว่าพระเจ้าอยู่หัวทรงสอดแทรกเข้ามาอีกแล้ว

การรุกของในหลวงครั้งนี้ถูกใจและสนับสนุนพวกที่ต้องการขับไล่นายกทักษิณและยังสร้างความชอบธรรมแก่การเรียกร้องของมวลชนบนท้องถนนที่เรียกร้องต้องการให้พระเจ้าอยู่หัวได้ทรงก้าวเข้ามาใช้พระราชอำนาจก่อนที่กระบวนการประชาธิปไตยจะหมดสิ้นหนทางไปหรือที่แท้ก็คือเป็นการหาทางบ่อนทำลายพรรคการเมืองที่เข้มแข็งในระบอบประชาธิปไตยโดยพระเจ้าอยู่หัวอีกครั้งหนึ่งนั่นเอง


หลังการเลือกตั้งปี2544 วังดูจะชอบใจกับการที่นายกทักษิณมักจะไม่สนใจกฎหมายและระเบียบปฏิบัติอยู่ในสายตา โดยมุ่งแต่การปฏิบัติให้เป็นผลลุล่วงที่เรียกว่าเน้นประสิทธิผลหรือผลงาน

นายกทักษิณใช้ความร่ำรวยหลายหมื่นล้านบาทเป็นอาวุธเหมือนอย่างที่พลเอกเปรมใช้กองทัพเพื่อเดินตามเป้าหมายทางการเมืองของตน ในขณะที่พลเอกเปรมเทิดทูนและยกความดีความชอบถวายในหลวงภูมิพล

แต่นายกทักษิณบริหารประเทศอย่างกับเป็นคู่แข่งของวัง ที่ส่งเสริมรัฐบาลพลเรือนเพื่อเป้าหมายของเขาเอง วิธีการทำงานของนายกทักษิณคือการใช้ประโยชน์จากการสนับสนุนของวังเวลาสองฝ่ายเห็นตรงกัน และไม่สนใจวังเวลาผลประโยชน์ไม่ตรงกัน และยังใช้ประโยชน์จากความแตกต่างขัดแย้งระหว่างในหลวงกับเปรมเป็นฝ่ายหนึ่ง และพระราชินีกับฟ้าชายเป็นอีกฝ่ายหนึ่ง


วังได้แต่รอจนนายกทักษิณประมาท ขบวนการไล่ทักษิณได้รับการสนับสนุนมากพอจากกลุ่มการเมือง ทหารและธุรกิจที่เคยสนับสนุนเขา จนเขาต้องยอมยุบสภาเมื่อต้นปี 2549

ดูเหมือนว่าพระเจ้าอยู่หัวทรงบีบให้นายกทักษิณลาออกเพียงหนึ่งวันหลังจากที่พรรคไทยรักไทยของเขาชนะการเลือกตั้งหนที่สอง



ทำให้ประเทศตกอยู่ในสูญญากาศ การเมืองไม่มีเสถียรภาพ
และในหลวงภูมิพลก็ไม่มีตัวเลือกที่ดีที่จะมาแทนนายกทักษิณเพื่อรับผิดชอบต่อสูญญากาศนี้


การที่นายกทักษิณไม่เห็นในหลวงกับพลเอกเปรมอยู่ในสายตา และความพยายามที่ดูประสบความสำเร็จอยู่บ้างในการซื้อตัวฟ้าชายวชิราลงกรณ์ แสดงถึงความจำเป็นที่วังจะต้องเปลี่ยนแนวทางการเมืองใหม่

การครองอำนาจของทักษิณแสดงให้เห็นว่าทางวังต้องสร้างสถาบันและองค์กรใหม่เพื่อต่อสู้กับผู้นำทางการเมืองที่เลว ต้องมีรัฐสภาที่ดีและมีประสิทธิภาพมากกว่านี้ ต้องมีศาลที่ยุติธรรมและเข้มงวดเด็ดขาดสามารถควบคุมกำจัดนักการเมืองได้ดีกว่านี้และยังต้องมีสื่อที่มีเสรีภาพคอยทิ่มแทงรัฐบาลคู่แข่งพระบารมีโดยไม่ต้องสนใจข้อเท็จจริงหรือหลักการประชาธิปไตยแต่อย่างใด

ขบวนการขับไล่ทักษิณในช่วงปี 2548-49 ทำให้ข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเฟ้อไปหมด โดยทั้งฝ่ายทักษิณกับขบวนการสู้เพื่อในหลวงต่างใช้ข้อหานี้กล่าวหาโจมตีกันจนเลอะเทอะ เพื่ออาศัยพระบรมเดชานุภาพไปเอาชนะศัตรูและอ้างความจงรักภักดีมาคุ้มครองตนเอง แต่ข้อหานี้ไม่น่าใช้กล่าวหากันง่ายๆ ในเวลาที่วังต้องการใช้ข้อหานี้จริงๆก็กลับจะไม่มีความศักดิ์สิทธิ์อีกต่อไปแล้ว

ไม่ว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไรก็ตามต่อสถาบันกษัตริย์ เช่น เรื่องราวในอดีตจะเผยออกมา หรือว่าพฤติกรรมของลูกๆ และหลานๆของพระองค์จะเป็นอย่างไร ในหลวงก็ทรงมีภาพลักษณ์ที่มั่นคงแน่นหนาที่สุดแล้ว และไม่น่าจะถูกทำลายได้

บารมีของพระองค์อยู่รอดมาได้อย่างไร้ที่ติด้วยพระชนมายุที่ยืนยาวและบุคลิกของพระองค์ที่จริงจัง ตรากตรำ นุ่มนวล ทรงใช้ชีวิตเรียบง่ายพอเพียง ด้วยการสำแดงพระองค์เป็นพระมหาชนกที่ละม้ายพระพุทธเจ้า พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลได้กลายเป็นเทพเจ้าอีกองค์หนึ่งเหมือนกับพระพุทธเจ้าหลวงรัชกาลที่ห้าเสด็จปู่ของพระองค์

ถึงอย่างไรพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลก็ต้องจากโลกนี้ไปในที่สุด สถาบันกษัตริย์ก็จะลดความศักดิ์สิทธิ์ลง รัชทายาทของพระองค์ไม่ได้รับการบ่มเพาะให้แสดงตนเป็นว่าที่พระพุทธเจ้า อีกทั้งมาดก็ไม่ให้

พวกเขาจะต้องพัฒนาและสร้างสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยตัวเองก่อนที่จะถูกบีบโดยสื่อและคนไทยรุ่นใหม่ที่มีการศึกษาที่ดีและไม่เคยเผชิญภาวะสงครามเย็นที่จำเป็นต้องอาศัยสถาบันกษัตริย์ของในหลวงภูมิพล เหมือนที่สถาบันกษัตริย์ตะวันตกจำนวนมากเผชิญในศตวรรษที่แล้ว

คือต้องยกภาระรับผิดชอบในการบริหารประเทศให้กับนักการเมืองที่มาจากความเห็นชอบของสภาที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน บทบาทของกษัตริย์ถูกจำกัดลงอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้


พระมหากษัตริย์ราชวงศ์จักรีมีทางเลือกที่จะกลับไปสู่ความศักดิ์สิทธิ์ เป็นสัพพัญญูที่สมบูรณ์พร้อมได้ แต่จะต้องลดบทบาทลงมาเหมือนสถาบันกษัตริย์ของญี่ปุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และกลายเป็นเพียงสัญลักษณ์ นามธรรมล้วนๆ และห่างไกลจากชีวิตสมัยใหม่


มันเป็นสถานการณ์ที่ในหลวงภูมิพลทรงตระหนักและตรัสแก่ผู้มาเยือนในปี 2535 ว่า
จักรพรรดิอากิฮิโต Akihito ของญี่ปุ่นทรงอึดอัดกับการเป็นแค่สัญลักษณ์ที่จำกัดอยู่แต่งานพิธีกรรม ไม่มีบทบาททางการเมือง แม้กระทั่งการให้คำปรึกษาหารือแก่รัฐบาล
ยังไม่มีอะไรบ่งชี้ว่ารัชทายาทของในหลวงภูมิพลจะเป็นแบบเดียวกับ พระจักรพรรดิอากิฮิโต Akihito


แต่กลับเป็นว่า
สถาบันกษัตริย์ไทยกำลังมุ่งไปในทิศทางที่ตรงข้าม ขณะที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย อันเป็นแหล่งรายได้เงินตราต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ได้ช่วยโฆษณาพระบรมมหาราชวังให้เป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยวที่สำคัญมานาน และพิธีกรรมต่าง ๆ ของวังก็ได้รับการโฆษณาประชาสัมพันธ์อย่างดีโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย


ในปี 2541 -42 วังที่หัวหินและดอยตุงเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชม และโรงแรมหรูๆ ผุดขึ้นในอาณาจักรของพระราชชนนีศรีสังวาลย์ที่ภาคเหนือ โครงการพัฒนาของในหลวงภูมิพลที่ดอยอ่างขางก็ถูกปรับเป็นแหล่งท่องเที่ยวพร้อมรีสอร์ต

เพื่อป้องกันไม่ให้พระโอรสพระธิดาถูกลดชั้นเป็นเพียงตัวแสดงในละครย้อนยุค สถาบันกษัตริย์จึงต้องสัมพันธ์กับสังคมไทยร่วมสมัย โดยแสดงบทบาททางสังคมและวัฒนธรรมซึ่งมีฐานรากอยู่แล้วในโครงการพระราชดำริต่างๆของพระเจ้าอยู่หัว งานการกุศลต่างๆ ของวัง งานสังคมของพระราชวงศ์ พระโอรสพระธิดาพระนัดดาต่างได้รับการจ่ายงานช่วยเหลือประชาชนมานานแล้ว เช่น ฟ้าหญิงสิรินธรมีมูลนิธิช่วยเหลือคนจนและคนด้อยโอกาส และมูลนิธิของในหลวงภูมิพล

ฟ้าชายวชิราลงกรณ์มีเครือโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชในชนบทแม้จะเป็นแค่ในพระนาม

ฟ้าหญิงจุฬาภรณ์อุปถัมภ์การวิจัยวิทยาศาสตร์แห่งชาติสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์








พระนัดดา
หรือหลานๆ ของในหลวงภูมิพลมีการเปิดงานการกุศล มันเป็นชีวิตหรืออาชีพของพวกเขาหลังจากเติบโตเป็นผู้ใหญ่





แต่แนวทางพระราชกรณียกิจทางสังคมต้องมีการปรับปรุง ความศักดิ์สิทธิ์ลี้ลับในวิธีการที่ในหลวงและพระราชินีทรงเรี่ยไรและแจกจ่ายเงินบริจาคนั้นต้องโปร่งใส มีวินัย เปิดเผย ระมัดระวังมากขึ้นในเรื่องภาพลักษณ์ และไม่สวนกระแสสังคม เช่น ในทศวรรษ 2530 มูลนิธิจุฬาภรณ์รับเงินจากอุตสาหกรรมบุหรี่เพื่อทำงานวิจัยที่สวนทางกับการรณรงค์ต่อต้านการสูบบุหรี่ของรัฐบาล ถ้ามีสื่อใจถึงก็คงจะเป็นเรื่องใหญ่แล้ว

การทำงานสังคมของราชวงศ์กับงานพระราชกุศลจะต้องหยุดแข่งขันกับรัฐบาลและองค์กรทางสังคมอื่นๆ รวมถึงเอ็นจีโอ ต้องลดบทบาทศูนย์รวมน้ำใจของสถาบันกษัตริย์


ราชวงศ์จะต้องเป็นหุ้นส่วนกับองค์กรต่างๆ และเป็นแบบอย่างในการสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ เช่นการเสด็จออกงานให้กับองค์กรต่าง ๆ ที่ทำงานช่วยสังคม ครอบคลุมไปถึงการพระราชทานรางวัลเหรียญตราสายสะพายต่างๆของวังด้วย แต่ตลอดรัชกาลของในหลวงภูมิพลทรงปฏิเสธผู้สร้างประโยชน์แก่ส่วนรวมที่ไม่หนุนเสริมอำนาจของวัง

บุคคลสำคัญในประวัติศาสตรไทยล้วนแล้วแต่เป็นกษัตริย์และเชื้อพระวงศ์ และบุคคลสำคัญของไทยยุคใหม่ก็ล้วนแล้วแต่เป็นผู้นิยมเจ้าทั้งสิ้น ที่บังเอิญหลุดจากทำเนียบคนนิยมเจ้าก็คือคนอย่างนายปรีดี พนมยงค์ , พระพุทธทาสที่เป็นผู้รู้จักในระดับโลก และนักทำงานเพื่อสังคมจำนวนมากที่อยู่นอกเครือข่ายของวัง และถูกถือมาตลอดว่าเป็นคู่แข่งขันบารมีกับวัง ท่าทีของวังอย่างนี้ไม่ถูกไม่ควรและไม่ก่อประโยชน์

สถาบันกษัตริย์จะต้องขยายฐานสนับสนุนด้วยการให้การยอมรับความสำเร็จและความซื่อตรงของผู้อื่น ไม่ใช่จะเอาแต่เพียงความจงรักภักดี ไม่อย่างนั้นก็ต้องถูกทิ้งไว้ข้างหลังโดยวัฒนธรรมสมัยใหม่


กษัตริย์อังกฤษมอบบรรดาศักดิ์อัศวินหรือท่านเซอร์แก่ศิลปิน นักดนตรีและคนทำงานเพื่อสังคม เช่น นิคฟัลโด้ นักกอล์ฟ ( Nick Faldo ) ที่ไม่ได้มีเส้นสายกับวังบัคกิ้งแฮม แต่มีส่วนสร้างและกำหนดความเป็นอังกฤษสมัยใหม่ในทางบวก

และ เอลตันจอห์น ( Elton John ) ศิลปินนักร้อง สถาบันกษัตริย์ของอังกฤษมีภาพพจน์ทันสมัยและมีบุญบารมี สามารถมองเห็นและยอมรับการอุทิศตนและการสร้างคุณงามความดีนอกแวดวงชนชั้นนำของตนเองได้ การขยายการยอมรับแก่คนไทยที่สร้างสรรค์ความสำเร็จจะทำให้พระราชวงศ์จักรียุคใหม่สามารถรักษาภาพลักษณ์พระมหากรุณาธิคุณและปรีชาญาณและยังรักษาตำแหน่งผู้นำทางศีลธรรมไว้ได้ต่อไป ราชวงศ์ของไทยจะต้องปรับตัวเองก่อนที่จะมีคนอื่นมาทำให้ นั่นคือหัวใจสำคัญของการอยู่รอดของสถาบันพระมหากษัตริย์

คงเป็นเรื่องยากที่พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลจะทรงเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของโลกและสังคมไทย และปรับเปลี่ยนสถานะและบทบาทของพระองค์ให้สอดคล้องกับยุคสมัยในระบอบประชาธิปไตย เพราะพระองค์ทรงมีความสำเร็จในการสถาปนาและควบคุมอำนาจของสังคมไทยในทุกบริบทและทุกปริมณฑล จนไม่มีใครวาดภาพออกว่าประเทศไทยจะเป็นอย่างไรถ้าไม่มีในหลวงภูมิพล

มิใช่ว่าเป็นเพราะพระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ที่ดีเลิศ แต่เป็นเพราะพระองค์ได้ทรงบ่อนทำลายหลักการประชาธิปไตยจนสังคมไทยไร้กำหนดกฎเกณฑ์และเคยชินกับการที่ต้องอยู่ภายใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทของพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลมาโดยตลอด
.............

ไม่มีความคิดเห็น: