วันอังคารที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ตำนานๆ 009021 : จากนายเล็กสู่ในหลวง


ฟังเสียงพร้อมเพลงประกอบ : http://www.4shared.com/mp3/G_8P0O_W/The_Royal_Legend_021_.htmlหรือที่ : http://www.mediafire.com/?3vt5kdpm7szd800

...............




เมื่อรัชกาลที่ 7 สละราชสมบัติ เรื่องการสืบราชสมบัติก็ไม่น่ามีปัญหา เพราะทราบกันแล้วว่าพระองค์เจ้าอานันทมหิดลจะได้สืบราชสมบัติ และพระชนนีศรีสังวาลย์ก็ได้ตอบตกลงให้พระโอรสของตนรับตำแหน่ง




แต่
รัชกาลที่ 7 กลับไม่เสนอรัชทายาทอย่างเป็นทางการ โดยทรงมีสาส์นไปถึงนายกรัฐมนตรีพระยาพหล ให้รัฐบาลเป็นผู้เลือกรัชทายาท




คณะรัฐมนตรีของพระยาพหลก็ไม่รู้จะจัดการอย่างไรเพราะ
ไม่มีใครรู้เรื่องกฎมณเฑียรบาล แต่เป็นเรื่องแปลกที่นายปรีดี พนมยงศ์กลับเป็นคนที่รู้เรื่องกฎมณเฑียรบาล






ตอนนั้น ยังมีพระองค์เจ้าวรานนท์ธวัช อายุ 12 ปี (ต่อมาคือสามีคนที่สองของพระพี่นางเจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา) เป็นลูกของพระองค์เจ้าจุฑาธุช ซึ่งพระวรกายไม่แข็งแรง มีพระอาการประชวรเรื่อยมา จนสิ้นพระชนม์ด้วยพระโรคพระวักกะหรือไตพิการ เมื่อ2466 พระชนมายุ31 พรรษา

พระองค์เจ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัยก็เป็นโอรสของรัชกาลที่ 5 และอยู่ในลำดับที่สูงกว่าเจ้าฟ้ามหิดล เป็นเจ้าของวังเพชรบูรณ์ย่านศูนย์การค้าราชประสงค์ (ที่ตกมาเป็นของสำนักงานทรัพย์สินฯ ของกษัตริย์ภูมิพล) แต่แม่ของวรานนท์ธวัชเป็นเพียงนางรับใช้ คือหม่อมระวี ไกยานนท์ ที่มิได้แต่งงานกับพระองค์เจ้าจุฑาธุชอย่างเป็นทางการ แต่การแต่งงานของเจ้าฟ้ามหิดลและศรีสังวาลย์ ได้รับความเห็นชอบจากทางวัง

หลังจากประชุมกันอยู่ 5 วัน คณะรัฐมนตรีก็สรุปให้พระองค์เจ้าอานันทมหิดลเป็นกษัตริย์ หลังจากที่คณะราษฎรได้ต่อสู้กับรัชกาลที่ 7 มาเกือบสามปี จนรัชกาลที่ 7 ต้องยอมแพ้สละราชสมบัติ แต่พวกคณะราษฎร ก็กลับแสดงความยินดีปรีดา ยกราชบัลลังก์ให้เด็กซึ่งเป็นหลานของรัชกาลที่ 7 เอง

พระชนนีศรีสังวาลย์ มุ่งมั่นในการ ควบคุมดูแลเลี้ยงดูพระโอรสของพระนางเอง โดยกันพระโอรสให้อยู่ในสวิตเซอร์แลนด์นานที่สุดเท่าที่พระนางเห็นสมควร ทำให้รัฐบาลและราชสำนักมีปัญหามาก เพราะพระชนนีสังวาลย์เป็นสามัญชนเชื้อสายจีน แต่เลี้ยงดูกษัตริย์และพระอนุชาแบบอเมริกันสมัยใหม่
ราชสำนักต้องการกันพระชนนีออกไป เหมือนเจ้าจอมผู้เป็นแม่ในสมัยก่อน คือ ถ้าแม่เป็นสามัญชนก็ต้องส่งลูกให้ทางวังเป็นคนเลี้ยงแทน เพื่อประกันว่าจะเติบโตเป็นกษัตริย์ขนานแท้ของพระราชวงศ์จักรี แต่พระชนนีได้รับการสนับสนุนจากผู้อาวุโสสูงสุด คือสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี (พระนางเจ้าสว่างวัฒนา) ราชินีหม้ายผู้เป็นแม่ของเจ้าฟ้ามหิดล และพระนางไว้วางใจให้ลูกสะใภ้ คือพระชนนีศรีสังวาลย์ให้เป็นผู้ดูแลหลานทั้งสามของเธอ

ราชสกุลมหิดลประทับอย่างสบายในโลซานน์ประเทศสวิส เมื่อเสด็จถึงในปี 2476 พระโอรสทั้งสามเข้าโรงเรียนกินนอนแชมป์โซเล champ soleil ประทับในอพาร์ทเมนต์ ใกล้ใจกลางเมือง มีหญิงรับใช้คนไทยหนึ่งคนและผู้หญิงสวิสอีกหนึ่งคน มีผู้หญิงจากวังอีกหลายคนอาศัยอยู่ใกล้ๆ



โอรสทั้งสองมักจะอยู่ด้วยกัน แต่เจ้าฟ้าอานันท์มีปัญหาสุขภาพ มักจะเจ็บป่วยเล็กๆน้อยๆ อยู่เสมอ แต่ภูมิพลแทบไม่เคยป่วยเลย พระชนนีต้องคอยเคี่ยวเข็ญอานันท์ที่ไม่ใคร่เอาใจใส่การเรียน ขณะที่ภูมิพลคนขยันเข้าใจถึงความสำคัญของการศึกษา


พระชนนีสังวาลย์ยืนยัน ในสิทธิ์ของความเป็นแม่ว่าเจ้าฟ้าอานันท์ ยังมีสุขภาพไม่แข็งแรงและไม่เหมาะกับสภาพอากาศร้อน ควรประทับอยู่ที่สวิส โดยการสนับสนุนของพระนางเจ้าสว่างวัฒนา และพระชนนียังปฏิเสธ ที่จะให้เจ้าฟ้าอานันท์และภูมิพลรับการศึกษาตามประเพณีสยามที่บ้าน โดยส่งพระโอรสเข้าโรงเรียนในสวิสที่มีชื่อเสียงในความเป็นยุโรปที่ก้าวหน้าทันสมัย สอนภาษาฝรั่งเศส อังกฤษ ละติน และเยอรมัน โดยแทบไม่มีเวลาเรียนภาษาไทยที่บ้าน

พระชนนีมักถูกคนในกรุงเทพฯ กล่าวหา ว่าควบคุมในหลวงไว้เพื่อแสวงหาอำนาจ พระชนนีบอกแก่พระนางเจ้าสว่างวัฒนาว่า ครอบครัวของพระชนนีสามารถอยู่อย่างเป็นสุขได้โดยไม่ต้องเป็นกษัตริย์ พระชนนียังคงใช้การสละราชย์ของในหลวงอานันท์ ขู่คณะผู้สำเร็จราชการ จนถึงปี 2479 ยังได้ประกาศว่าพระโอรสของพระนางจะไม่ยอมเป็นหุ่นเชิด ให้ใคร

เมื่อเห็นท่าไม่ค่อยดี พระนางเจ้าสว่างวัฒนาจึงบอกให้ทั้งรัฐบาลและวังถอยออกมา แล้วส่งพระธิดา คือ วไลยอลงกรณ์ และพระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ โอรสองค์สุดท้องที่ 52 ของรัชกาลที่ 5 ที่พระนางเลี้ยงดูมาเหมือนโอรสให้ไปดูแลราชสกุลมหิดล ทั้งสองคนได้เป็นที่ปรึกษาใกล้ชิดของพระราชวงศ์

ระหว่างนั้น รัชกาลที่ 7 ทรงปักหลักอยู่นอกเมืองลอนดอน คิดวางแผนกับฝ่ายนิยมเจ้า เพื่อจะคืนกลับสู่อำนาจโดยอ้างว่าเป็นการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย แต่ที่กรุงเทพฯ รัฐบาลมีเสถียรภาพในทางการเมืองและเศรษฐกิจ ในระบอบรัฐธรรมนูญ ฝ่ายนิยมเจ้าถูกกันออกไปอยู่นอกสายบังคับบัญชามากขึ้นทุกที

กระทั่งก่อนการสละราชย์ รัฐบาลได้เริ่มตัดตอนแหล่งที่มาแห่งอำนาจและบุญบารมีตามประเพณีของวัง พิธีกรรมบางอย่างของวังถูกเพิกเฉยหรือยกเลิกไป (เช่น พิธีโกนจุกพระราชโอรส หรือโสกันต์ที่ยิ่งใหญ่ และพิธีแรกนาขวัญ) หรือกลายเป็นพิธีกรรมของรัฐ

รัฐบาลควบคุมดูแลสังฆมณฑล และสร้างวัดเพิ่ม โดยบุญญาธิการที่ได้มาไม่ได้เป็นของวัง อีกต่อไป ประชาชนสักการะรูปเคารพอันเป็นสัญลักษณ์ของกษัตริย์ พระพุทธเจ้า และรวมรัฐธรรมนูญเข้าไปด้วย บางครั้งรัฐธรรมนูญก็ประดิษฐานอยู่สูงกว่ารูปเคารพอื่นๆ


10 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวรฉบับแรกเมื่อปี 2475 กลายเป็นวันชาติ และได้รับการเฉลิมฉลองยิ่งใหญ่กว่าวันพระราชสมภพ คาถาชาติ -ศาสน์ -กษัตริย์ ของรัชกาลที่ 6 ก็มีรัฐธรรมนูญเติมเข้าไปอีกอันหนึ่ง

หลังการสละราชย์ รัฐบาลแต่งตั้งคนที่ไม่มีพิษสงทางการเมืองสามคน เป็นคณะผู้สำเร็จราชการแผ่นดินเพื่อดูแลสถาบันกษัตริย์ (อาทิตย์ทิพยอาภา,อนุวัตรจาตุรนต์,เจ้าพระยายมราช) รัฐบาลจัดการย้ายโอนกิจราชสำนักเดิมมาไว้ในระบบราชการ


กรมพระคลังข้างที่ หรือกรมพระคลังมหาสมบัติที่อยู่หอรัษฎากรพิพัฒน์ ในพระบรมมหาราชวังหรือวัดพระแก้ว ถูกโอนไปสังกัดกระทรวงการคลัง แบ่งทรัพย์สินเป็นส่วนพระมหากษัตริย์ ของรัฐ และของส่วนพระองค์

บรรดาเชื้อพระวงศ์ที่ฝากทรัพย์สินไว้กับกรมพระคลังข้างที่กับธนาคารไทยพาณิชย์ (แบ๊งค์สยามกัมมาจล) กลัวว่าจะถูกรัฐบาลยึด ก็รีบพากันมาถอนคืนไป


ถ้อยแถลงของรัชกาลที่ 7 ขณะสละราชย์ได้อ้างกรรมสิทธิเหนือทรัพย์สิน ที่ทรงถือครองอยู่ก่อนเป็นกษัตริย์ในปี 2468 แต่รัฐบาลปฏิเสธคำอ้างนั้น และกล่าวหาว่าพระองค์ยักยอกทรัพย์สินของรัฐไปไว้ยุโรป รัชกาลที่ 7 ได้นำทรัพย์สินออกไปเป็นจำนวนมาก ทั้งเงินสดและอัญมณีที่สะสมกันมาหลายรัชกาล อย่างเช่น ชุดอัญมณีอันโด่งดัง ที่ประกอบด้วยเพชรและมรกตเม็ดใหญ่ (ที่เรียกว่ามงกุฏเทียร่า Tiaraใช้เพชร 1998 เม็ด และไข่มุก 212 เม็ด) ที่เคยเป็นของจักรพรรดินียูจีนี(Victoria Eugenie) แห่งนโปเลียนที่สามของฝรั่งเศส ซึ่งรัชกาลที่ 5 ซื้อมาตั้งแต่ปี 2440


เมื่อรัชกาลที่ 7 ปฏิเสธข้อเรียกร้องที่จะให้คืนทรัพย์สินทั้งหมด รัฐบาลจึงยึดทรัพย์สินส่วนใหญ่ของราชวงศ์ที่ยังเหลืออยู่ในกรุงเทพฯ ทำให้ประธานคณะผู้สำเร็จราชการฯ
พระองค์เจ้าออสการ์นุทิศ กรมหมื่นอนุวัตรจาตุรนต์ฆ่าตัวตาย ในเดือนสิงหาคม 2478 เพราะทนไม่ไหวต่อแรงกดดันจากทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายนิยมเจ้า ตำแหน่งจึงตกไปอยู่กับพระองค์เจ้าอาทิตย์



จอมพลป.พิบูลสงคราม
ผู้บัญชาการทหารบก
ที่พุ่งแรง จากผลงานปราบกบฏบวรเดช กลายเป็นกำลังหนุนสำคัญของพระยาพหล เขาจบจากวิทยาลัยฟอนเทนเบลอ ของฝรั่งเศส เป็นคนมีความทะเยอทะยานสูง ชื่นชมในลัทธิชาตินิยมทหารของเยอรมัน อิตาลี และญี่ปุ่น




ในเดือนกุมภาพันธ์ 2478 จอมพลป.ถูกลอบสังหารในสนามฟุตบอล ก่อนรัชกาลที่ 7สละราชย์ แต่ได้รับบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย หกเดือนต่อมา ทั้งจอมพลป.และปรีดีถูกลอบประทุษร้าย แต่ไม่สำเร็จ เห็นได้ชัดว่ามีฝ่ายนิยมเจ้าอยู่เบื้องหลัง

เดือนพฤศจิกายน 2480 มีการเปิดโปงแผนฆ่านายปรีดีและจอมพลป. ของฝ่ายเจ้า ปี 2481 มีความพยายามเอาชีวิตจอมพลป.ที่ว่ากันว่าเป็นฝีมือของฝ่ายเจ้าถึงสามครั้ง จอมพลป.มีอำนาจมากขึ้น ศัตรูของเขาปล่อยข่าวว่าจอมพลป.มีแผนจะขึ้นนั่งบัลลังก์เองแบบจักรพรรดินโปเลียน



ในช่วงนี้
รัฐบาลยืนกรานให้รัชกาลที่ 8 กลับจากสวิตเซอร์แลนด์ อย่างน้อยก็เป็นการชั่วคราว เพื่อทำพิธีราชาภิเษก ส่วนที่โลซานน์พระชนนีก็ยังไม่ยอมโอนอ่อน โดยขู่จะให้รัชกาลที่ 8 สละราชย์ทุกครั้งที่มีการกดดัน




เหตุผลหลักของพระชนนีคือ รัชกาลที่ 8 มีสุขภาพไม่แข็งแรงพอ สำหรับการเดินทาง แผนการเดินทางที่วางไว้ สำหรับช่วงเดือนพฤศจิกายน - มกราคม ที่เป็นหน้าหนาวในแต่ละปี นับแต่ขึ้นครองราชย์ ถูกยกเลิกไปทุกครั้ง ด้วยคำแนะนำของแพทย์



พระชนนีตั้งมั่น ที่จะ
ให้ในหลวงอานันทมีชีวิตวัยเด็กตามปกติและจบการศึกษาในยุโรป และด้วยสถานการณ์ที่อาจเกิดความรุนแรงได้ทุกเมื่อ พระชนนีก็มีเหตุอันควร ให้ต้องกลัวว่ากรุงเทพฯจะไม่ปลอดภัย สำหรับรัชกาลที่ 8




แม้ว่าจอมพลป.และคนอื่นๆ เชื่อว่าฝ่ายเจ้ากำลังสมคบคิด ไม่ให้พวกตนมีความชอบธรรมทางการเมือง ฝ่ายเจ้าเองก็ได้รับผลกระทบจากการไม่เสด็จของรัชกาลที่ 8 เช่นกัน ยิ่งขาดกษัตริย์นานเท่าไหร่ ราชบัลลังก์ก็จะยิ่งลดความสำคัญลงเท่านั้น ราชพิธีสำคัญๆ อย่างพืชมงคลและการทำบุญกฐินที่วัดอรุณ ต้องขาดช่วงไป

ปี 2481 พระชนนีก็ใจอ่อนและพาลูกชายทั้งสองกลับมาสยาม พระราชวงศ์เสด็จลงเรือเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2481 อานันท์และภูมิพลใช้เวลาเกือบหนึ่งเดือนบนเรือ เรียนภาษาไทยและมารยาทในวัง เมื่อเรือของพวกเขาเข้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยาจากอ่าวไทยเมื่อ 15 พฤศจิกายน



พสกนิกรชาวสยามนับแสน พากันน้อมคำนับและ
ส่งเสียงโห่ร้องเบียดเสียดกันตามถนนและสองฝั่งแม่น้ำ เพื่อต้อนรับพระองค์




เมื่อเทียบท่าที่พระบรมมหาราชวัง พระองค์ก็ได้รับการต้อนรับจากผู้นำรัฐบาลและราชสำนัก นำโดยพระนางเจ้าสว่างวัฒนา ทั้งหมดหมอบกราบแทบพระบาทรัชกาลที่ 8 มีผู้นำเพียงคนเดียวที่ไม่ได้เข้าร่วมคือจอมพลป. ที่กลัวจะมีการพยายามลอบสังหารเขาอีก


การเสด็จนิวัติพระนครครั้งนี้เต็มไปด้วยพิธีกรรม ในหลวงอานันท์ได้รับการยอมรับ
เป็นกษัตริย์แห่งสยาม และพระชนนีได้รับสถานะให้เป็นสมเด็จพระราชชนนี แต่ไม่มีพิธีราชาภิเษกที่วางไว้แต่เดิม กล่าวกันว่าในหลวงอานันท์ยังไม่ได้เรียนรู้ภาษาไทย หรือบาลีดีพอที่จะท่องคำสวด และคำสัตย์สาบานสำหรับพิธีกรรม ที่กินเวลาเกินหนึ่งสัปดาห์ ราชสกุลมหิดลเสด็จลงเรือกลับยุโรปวันที่ 13 มกราคม 2482



สงครามระหว่างจอมพล.ป และฝ่ายเจ้าก็กำลังดุเดือด หนึ่งสัปดาห์ก่อนราชสกุลมหิดลจะมาถึง
จอมพลป.รอดชีวิตจากการพยายามลอบสังหารอีกครั้งหนึ่ง เขาหมดความอดทนและบีบให้พระยาพหลลาออก แล้วจอมพลป.ก็เป็นนายกรัฐมนตรีเอง



ไม่นานหลังจากพระราชวงศ์เสด็จกลับสวิสแล้ว จอมพลป.ก็จัดการกวาดล้าง จับกุมเจ้า ขุนนางและทหาร 5 คนที่อยู่ฝ่าย
พระยาทรงสุรเดช คู่แข่งของตนในคณะราษฎร ด้วยข้อหาวางแผนโค่นล้มจอมพล ป. บางคนถูกประหารชีวิตทันที ที่เหลือถูกไต่สวนข้อหาทรยศ สมคบคิดโค่นล้มรัฐบาลของในหลวงอานันท์ เพื่อจะนำรัชกาลที่ 7 กลับมาเป็นกษัตริย์อีก



ผู้ที่ถูกจับประกอบด้วยเชื้อพระวงศ์ชั้นสูงหลายคน ที่สำคัญคือ
พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ โอรสรัชกาลที่ 5 ที่กำพร้าแม่ ซึ่งเป็นลูกเลี้ยงของพระนางเจ้าสว่างวัฒนา ที่ดูแลในหลวงอานันท์และพระราชวงศ์ตลอดการมาเยือน พระองค์เจ้ารังสิตถูกจับเข้าคุก ถูกถอดยศลดชั้น และถูกพิพากษาประหารชีวิต



แต่ได้รับการช่วยชีวิตไว้ โดยพระราชชนนีสังวาลย์ที่ขู่ จะให้ในหลวงอานันท์สละราชย์ ปลายปี 2482 พระองค์เจ้ารังสิตจึงได้รับการลดโทษ ถูกส่งไปจำขังบนเกาะตะรุเตา พร้อมกับคนอื่นอีก 21 คน และมี18 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชั้นผู้น้อยถูกประหารชีวิต การปราบครั้งนี้ถือเป็นชัยชนะขั้นเด็ดขาดของคณะราษฎร 2475 และฝ่ายนิยมรัฐธรรมนูญที่มีชัยชนะเหนือฝ่ายเจ้า

จอมพลป. สั่งให้มีการสร้างอนุสาวรีย์ใหญ่โตเพื่อฉลองรัฐธรรมนูญ ต่อมาเรียกว่าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย บนใจกลางถนนราชดำเนิน


จอมพลป. พยายามริดรอนอำนาจและบารมีของกษัตริย์
พวกเชื้อพระวงศ์ชั้นสูงถูกจำกัดกรอบในการเดินทาง และทำกิจกรรมต่างๆ
วังและทรัพย์สินที่กรุงเทพฯ ของรัชกาลที่ 7 ถูกยึด หน่วยราชการถูกสั่งห้ามแขวนภาพรัชกาลที่ 7 ให้แขวนแต่ภาพของจอมพลป.แทน และไม่ใช่ภาพของในหลวงอานันท์



เมื่อ
วไลยอลงกรณ์ พระราชธิดาของพระนางเจ้าสว่างวัฒนา (สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี) เสียชีวิตในปี 2482 รัฐบาลจอมพลป. ปฏิเสธที่จะจ่ายค่าทำพิธีฌาปนกิจให้








และเมื่อรัชกาลที่ 7 สวรรคตจากหัวใจล้มเหลว ที่ประเทศอังกฤษในปี 2484 ไม่มีแม้กระทั่งการเดินเรื่อง เพื่อจัดนำพระบรมศพกลับมาประกอบพิธี เอกอัครราชทูตส่งแต่เพียงหรีด ในนามของในหลวงอานันท์ ไม่ใช่จากรัฐบาล






หนึ่งปีผ่านไป จอมพลป. หมดความยำเกรงในคำขู่ของพระราชชนนีแล้ว โดยแสดงชัดว่าพร้อมจะหนุนให้
พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาผู้สำเร็จราชการฯ ขึ้นนั่งราชบัลลังก์แทน และเริ่มฉวยอำนาจและสัญลักษณ์ทางประเพณีของกษัตริย์มาเป็นของตัวเอง เปลี่ยนคาถาของรัชกาลที่ 6 มาเป็น ชาติ ศาสน์ รัฐธรรมนูญ และกษัตริย์







ประกาศให้รัชกาลที่ 6 เป็นกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งสยาม และ
สร้างอนุสาวรีย์ให้ ที่สวนลุมพินี ในปี 2482











ประกาศให้ 24 มิถุนายน เป็นวันชาติ มีการเฉลิมฉลองใหญ่โตเพื่อแสดงชัยชนะเหนือราชวงศ์จักรี












ในวันเดียวกัน จอมพลป.ได้
ประกาศนโยบายรัฐนิยม เสมือนพระราชโองการจากกษัตริย์ เปลี่ยนชื่อประเทศให้ฟังดูทันสมัยขึ้นจากสยามเป็นไทยแลนด์ บ่งบอกความแตกหักกับราชวงศ์เดิม





สั่งให้ประชาชนแสดง ความเคารพ ต่อ
เพลงชาติ
และธงชาติ
แต่ไม่ใช่ต่อกษัตริย์








จอมพลป.ได้ขจัดความเป็นเจ้าอย่างอื่นๆอีก โดยการ
ยกเลิกบรรดาศักดิ์ต่างๆ เช่น หลวง พระยา เจ้าพระยา ตัดการเชื่อมโยงของวังกับสามัญชนและข้าราชการที่มีอิทธิพล สั่งปรับภาษาไทยให้ง่ายขึ้นด้วยการเลิกใช้พยัญชนะที่มักจะใช้กับชื่อและศัพท์ที่เกี่ยวกับเจ้าอย่างเลิศหรู




และขจัดการใช้ภาษาที่แสดงความเหลื่อมล้ำต่ำสูง สั่งเปลี่ยนคำที่ประชาชนเรียกรัชกาลที่ 5 ว่า พระพุทธเจ้าหลวง โดยบอกว่าการเรียกอย่างนั้นจะทำให้รัชกาลที่ห้ายิ่งใหญ่กว่าพระพุทธเจ้า จึงต้องลดความสูงส่งลงมา




จอมพลป.สวมบทบาทแทนกษัตริย์ในกิจการของสงฆ์ โดยต้องการสกัดกั้นนิกายธรรมยุติของฝ่ายเจ้า ในปี 2480 พระชินวรสิริวัฒน์ สังฆราชฝ่ายธรรมยุติซึ่งเป็นเชื้อพระวงศ์สิ้นพระชนม์ จอมพลป.ได้เสนอชื่อพระพุฒาจารย์ (แพ ติสสเทโว ) ฝ่ายมหานิกายเป็นสังฆราช พระพุฒาจารย์แพมีพื้นเพมาจากภาคอีสาน ซึ่งเป็นแหล่งที่มาอันยาวนานของพระที่ไม่นิยมสถาบันกษัตริย์ 



ในปี 2484 พระพุฒาจารย์ (แพ) ได้แก้ไขกฎหมายสงฆ์ปี 2445 ซึ่งให้อำนาจแก่วังในการควบคุมสงฆ์ โครงสร้างใหม่นี้เลียนแบบโครงสร้างรัฐบาล





โดยสังฆราชมีฐานะสูงสุด แต่ไม่มีอำนาจ เหมือนกษัตริย์ราชวงศ์จักรีหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง อำนาจตกอยู่แก่สังฆนายก ซึ่งคล้ายตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สังฆนายกบริหารงานโดยผ่านคณะสงฆ์และสภาสงฆ์ อำนาจในการดูแลอวยยศเลื่อนชั้นแก่พระสงฆ์ถูกโอนจากวังมาอยู่ที่กระทรวงศึกษา กษัตริย์สามารถเลือกสังฆราช แต่รัฐบาลเป็นผู้เลือกสังฆนายกและคณะผู้บริหาร

จอมพลป.หันมาทำกิจกรรมที่จะแสดงวัตรปฏิบัติทางธรรมอันสูงส่งของตนเอง ในเดือนกันยายน 2483 จอมพลป.เริ่มการก่อสร้างวัดแห่งใหม่ คือวัดพระศรีมหาธาตุ ที่บางเขน เพื่อรำลึกถึงการปฏิวัติ 2475 บริจาคพระพุทธรูปให้วัด ก้าวรุกเข้าไปในพระราชอำนาจด้วยการประกาศให้เป็นวัดหลวง โดยไม่มีความเกี่ยวโยงใดๆถึงสถาบันกษัตริย์ แต่ผูกพันแนบแน่นกับกองทัพ วัดอยู่ในเขตบางเขนอันเป็นพื้นที่ทหาร ไกลจากวังพระยาพหล อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นพระรูปแรกที่วัดนี้

จอมพลป. ตั้งใจให้วัดพระศรีมหาธาตุ เป็นศูนย์กลางของสงฆ์หลังจากมีการรวมสองนิกายเข้าด้วยกันแล้ว จึงได้แต่งตั้งสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสโส) พระธรรมยุติอาวุโสเป็นสังฆนายกรูปแรก และเป็นเจ้าอาวาสวัดใหม่นี้พร้อมกัน สมเด็จอ้วนวางแผนสิบปีเพื่อรวมทั้งสองนิกายบนพื้นฐานประชาธิปไตย ซึ่งจะทำให้ธรรมยุติลดอิทธิพลลง




จอมพลป.มองตนเองเป็นนักชาตินิยมผู้สร้างชาติที่แข็งแกร่งและน่าภาคภูมิใจเหมือนอิตาลีและญี่ปุ่น เขาไม่ปฏิเสธหากฝ่ายเจ้าจะเชื่อว่าเขาอยากจะตีตนเสมอเจ้า
เขาเปรียบตนเองเป็นเหมือนรัชกาลที่ 6





ขณะที่หลวงวิจิตรวาทการ นักโฆษณาชวนเชื่อประจำตัวของจอมพลป.ก็เปรียบจอมพลป.เหมือนพ่อขุนรามคำแหงแห่งกรุงสุโขทัย เท่ากับว่ากำลังขโมยสัญลักษณ์ประจำราชวงศ์จักรีไป ยังได้สั่งให้พระองค์เจ้าอาทิตย์ผู้สำเร็จราชการฯ มอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดแก่ตน และยังครอบครองพระคทาของรัชกาลที่ 6 ไว้อีกด้วย



หลังจากจอมพลป.ยอมให้ญี่ปุ่นยึดครองประเทศ ในปี 2484 เขาปลดนายปรีดีจากคณะรัฐมนตรี และแต่งตั้งนายปรีดีในคณะผู้สำเร็จราชการฯที่ไม่มีอำนาจ แต่นายปรีดีได้ใช้ตำแหน่งนี้อำพรางบทบาทผู้นำขบวนการเสรีไทยซึ่งเป็นขบวนการใต้ดินที่ต่อต้านญี่ปุ่นและจอมพลป.ในที่สุดการสนับสนุนจอมพลป.จากกองทัพและสภาก็อ่อนแรงลง กลางปี 2487 จอมพลป. พยายามปิดฉากราชวงศ์จักรีและเริ่มราชวงศ์ใหม่ของตนด้วยการเสนอย้ายเมืองหลวงไปเพชรบูรณ์ที่ห่างไกลจากกรุงเทพฯ และราชวัง และย้ายเถรสมาคมไปยังศูนย์พระพุทธศาสตร์แห่งชาติแห่งใหม่ที่สระบุรี แต่นายปรีดีได้รวบรวมกำลังในสภาล้มข้อเสนอของจอมพลป. ในเดือนกรกฎาคม และจอมพลป.ถูกบีบให้ลาออก 






คนที่ขึ้นมาแทน คือ นายควง อภัยวงศ์ นักการเมืองหัวเสรี หนึ่งในผู้ก่อการ 2475 พระองค์เจ้าอาทิตย์ ผู้สำเร็จราชการฯ ก็ลาออกด้วย ปล่อยให้นายปรีดีที่เคยเป็นตัวน่าชิงชังสำหรับรัชกาลที่ 7 กลายเป็นผู้สำเร็จราชการฯ แทน





นายปรีดีปล่อยผู้ที่ถูกจำคุกจากคดีกบฏ
2482 ออกมาทั้งหมด รวมถึงพระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ด้วย
เพื่อแสดงให้ฝ่ายเจ้าเห็นว่า เขาได้ปรับลดความเป็นศัตรูต่อสถาบันกษัตริย์ลงมาแล้ว โดยทำในนามของในหลวงอานันท์ เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพของในหลวงอานันท์และรัชกาลที่ห้า ในวันที่ 20 กันยายน 2487




เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองยุติ จอมพลป.และพรรคพวกถูกจับ และสมาชิกขบวนการเสรีไทยขึ้นกุมอำนาจ นายปรีดีทูลเชิญในหลวงอานันท์กลับประเทศ แล้วขึ้นครองราชย์เมื่อทรงบรรลุนิติภาวะในเดือนกันยายน 2488 ในหลวงอานันท์พร้อมด้วยสมเด็จพระราชชนนีและพระอนุชาภูมิพลเดินทางกลับมาถึงเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2488 วันครบรอบ 18 ชันษาของพระอนุชาภูมิพล



 เพื่อเริ่มรัชสมัยที่แปดอย่างเป็นทางการ
การขอให้เสด็จกลับประเทศไทยในปลายปี 2488 เป็นเรื่องทีน่าลำบากพระทัยไม่น้อย โดยเฉพาะสำหรับในหลวงอานันท์ ที่จะต้องอำลาจากยุโรปตลอดไป เพื่อไปเป็นธรรมราชา ชีวิตของสองพี่น้องคงจะต้องพลิกเปลี่ยนไปอย่างมาก และคงต้องตกเข้าไปอยู่ท่ามกลางความอาฆาตมาดร้ายที่คุกรุ่นระหว่างฝ่ายผู้ก่อการ 2475 และฝ่ายเจ้า


พระราชวงศ์เสด็จถึงประเทศเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2488 โดยได้รับการต้อนรับอย่างน่าชื่นใจ ที่สนามบินดอนเมือง นายปรีดีที่เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ คุกเข่าถวายการต้อนรับ ข้างหลังตัวเขา คือ
นายกรัฐมนตรีคนใหม่มรว.เสนีย์ ปราโมช และเหล่านายทหารระดับสูง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ร่วมก่อการ 2475





ตลอดการเดินทางเสด็จเข้าเมืองระยะทางยี่สิบกิโลเมตรโดยรถไฟ สองข้างทางเต็มไปด้วยประชาชนส่งเสียงโห่ร้องและแสดงความเคารพ เมื่อถึงสถานีวังจิตรลดา ก็มีการต้อนรับอย่างเป็นทางการอีกเป็นครั้งที่สอง คราวนี้นำโดยพระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ พร้อมเชื้อพระวงศ์อื่นๆ ข้าราชการระดับสูง นักการทูต และนายปรีดี ซึ่งเป็นผู้ถวายพระราชลัญจกรหรือตราแผ่นดิน เป็นการคืนราชบัลลังก์ให้นายหลวงอานันท์อย่างเป็นทางการ

ในหลวงอานันท์ สมเด็จพระอนุชาภูมิพล และพระราชชนนีศรีสังวาลย์์ เสด็จ พระราชดำเนิ
นนั่งรถเปิดประทุนไปยังพระบรมมหาราชวัง อันเป็นสถานที่พำนัก โดยมีพสนิกรชาวไทยนับหมื่นขนาบสองฟากถนน ส่งเสียงไชโยสรรเสริญ แสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ที่ฝังลึกอยู่ในวัฒนธรรมไทย แม้ว่าประเทศจะอยู่มาโดยเสมือนว่าปราศจากกษัตริย์ถึง 13 ปีแล้วก็ตาม 

ราชสำนักอ่อนแอลง เนื่องจากว่างเว้นการปฏิบัติและการถดถอยในบารมีที่ค้ำจุนบัลลังก์ ราชพิธีต่างๆ ถูกหลงลืมไปมากเนื่องจากข้าราชบริพารเก่าแก่ล้มหายตายจาก ประชาชนไม่ได้ยืนตรงแสดงความเคารพแก่เพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงหนัง หัวขโมยกล้าลักสิ่งของในพระราชวัง คนมีการศึกษาและชนชั้นนำในกรุงเทพก็มีสำนึกเทิดทูนความเป็นเจ้าไม่มากนัก

สถาบันต่างๆ ที่เคยเป็นฐานค้ำยันอำนาจของบัลลังก์ถูกตัดขาดไป ระบบราชการก็มีแต่คนที่ไม่เคยได้รับใช้เบื้องพระบาท มหานิกายซึ่งเป็นสังกัดของพระสงฆ์ส่วนใหญ่ ได้ยึดอำนาจควบคุมพระสงฆ์จากฝ่ายธรรมยุติที่ได้รับการหนุนหลังจากราชสำนัก งบประมาณของวังตกอยู่ในมือของรัฐบาลและเอกชน งบประมาณสำนักพระราชวังและราชเลขาธิการถูกตัดลงอย่างมาก

สถานการณ์หลังสงครามช่วยเสริมความสำคัญให้กับพระราชวงศ์เพราะ ประเทศกำลังต้องการศูนย์รวมจิตใจ ขณะที่รัฐบาลไม่สามารถสนองความต้องการนี้ได้ ระบอบของจอมพลป.พิบูลสงครามถูกแทนที่โดยขบวนการเสรีไทยที่แบ่งเป็นฝักเป็นฝ่ายหลายพวก โดยมีทั้งเชื้อพระวงศ์หัวก้าวหน้าที่ยอมรับระบอบรัฐธรรมนูญแต่ไม่ยอมให้อภิสิทธิ์ของตนถูกลิดรอน และฝ่ายประชาธิปไตยเสรีและพวกแนวสังคมนิยมที่ยอมรับสถาบันกษัตริย์ให้เป็นเพียงสัญลักษณ์ ผู้นำกลุ่มแรกหรือพวกเจ้าหัวใหม่คือมรว.เสนีย์ ปราโมชที่เป็นแกนนำเสรีไทยสายสหรัฐฯ ผู้นำกลุ่มที่สองหรือพวกประชาธิปไตยเสรีนิยมและพวกแนวสังคมนิยมก็คือนายปรีดี พนมยงศ์


ขณะนั้นนายปรีดีก็ยังมีอำนาจและได้รับการยอมรับมากกว่ากลุ่มอื่นๆ
กลุ่มเลือดน้ำเงินแท้หรือพวกนิยมเจ้านำโดยพระองค์เจ้าธานีนิวัติ (กรมหมื่นพิทยาลาภพฤฒิยากร) พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ และพระองค์เจ้าภานุพันธ์ ยุคล รวมถึงพระยาศรีวิศาลวาจา เป็นแกนสำคัญในการฟื้นฟูของอำนาจของเจ้า



โดยเริ่มฟื้นคืนพระบารมีทันทีที่ในหลวงเสด็จนิวัติพระนคร เหล่าเชื้อพระวงศ์เริ่มโครงการฟื้นวัฒนธรรมเจ้าโดย เน้นย้ำต่อในหลวงและพระอนุชาว่า พิธีกรรมคือทุกสิ่งทุกอย่าง ต่อการดำรงอย่ของ สถานะของเจ้า พระองค์เจ้าธานีนิวัติ (กรมหมื่นพิยาลาภพฤฒิยากร)ได้อ้างว่า “ สังคมที่ทำให้ขนบจารีตมีความศักดิ์สิทธิ์ ก็จะมีอำนาจและความมั่นคงยั่งยืนอย่างประเมินมิได้ ความเชื่อและการถือปฏิบัติเพื่อให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์แก่จารีตจะมี คุณค่าในการอยู่รอดของอารยธรรมอัน ทั้งนี้ถึงแม้จะต้องซื้อหามาในราคาที่แพง และจะต้องคงรักษาไว้ให้ได้ ไม่ว่าจะต้องจ่ายแพงสักเพียงใดก็ตาม ”

ในหลวงอานันท์และพระอนุชาภูมิพล มีกำหนดการเสด็จในพระราชพิธีต่างๆ โดยทันทีที่มาถึงพระบรมมหาราชวังในวันที่ 5 ธันวาคม 2488 ก็เสด็จสักการะพระแก้วมรกต และพระสยามเทวาธิราช และบวงสรวงอัฐิพระบุรพกษัตริย์
วันถัดมา ในหลวงอานันท์ทรงสวมมงกุฎและประทับบัลลังก์ท่ามกลางพราหมณ์ พระเถระชั้นผู้ใหญ่ และเชื้อพระวงศ์ในพิธีราชาภิเษกขนาดเล็ก


วันที่ 7 ธันวาคม ทรงต้อนรับนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี และผู้บัญชาการเหล่าทัพ ซึ่งคุกเข่าถวายยศและเครื่องแบบจอมพล และประกาศให้พระองค์เป็นจอมทัพไทย
สองวันถัดมา ในหลวงอานันท์และพระอนุชาทรงทำบุญอุทิศส่วนกุศลแก่บูรพกษัตริย์ ถวายภัตตาหารแก่พระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ ทรงบาตรในฐานะที่เป็นองค์อุปถัมภ์ของพระพุทธศาสนา

วันที่ 10 ธันวาคมซึ่งเป็นวันรัฐธรรมนูญ เป็นการเฉลิมฉลองสิ่งที่เป็นตัวแทนของการสูญเสียอำนาจของสถาบันกษัตริย์ ทางวังมีท่าทีกำกวมคือไม่อยากจัดการฉลอง ในพระราชดำรัสที่กระจายเสียงไปทั่วประเทศ ได้เรียกร้องความสามัคคี ความอุตสาหะและความรักชาติ แต่ไม่กล่าวยกย่องรัฐธรรมนูญ วันที่12 ธันวาคมจัดงานเลี้ยงน้ำชาสำหรับชาววัง เปิดโอกาสให้พวกเชื้อพระวงศ์และราชนิกูลได้เชื่อมสัมพันธ์กับกษัตริย์ จากนั้นก็เป็นหมายพระราชกรณียกิจประจำวันในการเชื่อมสัมพันธ์กับราษฎร นักการเมืองและข้าราชการระดับสูงได้เข้าเฝ้า ในหลวงและพระอนุชาเสด็จไปเยือนอารามหลวงต่างๆ ทหารกรมกองต่างๆจัดแสดงการรบถวาย

มกราคม 2489 ในหลวงอานันท์ เสด็จเป็นประธานการสรุปสนธิสัญญาสันติภาพกับสหราชอาณาจักร และร่วมพิธีเดินตรวจพลกองกำลังของอังกฤษที่ยึดครองประเทศไทยหลังสงครามพร้อมกับลอร์ดหลุยส์ เมาท์แบทเทน ผู้แทนราชินีอังกฤษ
การเมืองในสภาหลังสงครามมีการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายมาก ในหลวงอานันท์ต้องเปิดประชุมสภาสองครั้ง แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีสามครั้งและประกาศรัฐธรรมนูญใหม่ในเวลาเพียงหกเดือน ในพิธีประกาศใช้รัฐธรรมนูญวันที่ 9 พฤษภาคม ในหลวงอานันท์ทรงชุดทองและมงกุฎเพชรประทับนั่งบนบัลลังก์ ทรงมอบรัฐธรรมนูญให้กับผู้นำรัฐบาล

ในหลวงอานันท์พร้อมด้วยพระอนุชา ได้ทรงร่วมการพิจารณาคดีของศาลอยู่สองครั้ง คราวหนึ่งเป็นการพิจารณาคดีที่ฉะเชิงเทราเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม2489 แม่ลูกอ่อนสารภาพว่าได้ลักขโมย โดยอ้างความยากจนและความหิวโหย เป็นการกระทำผิดครั้งแรก ก่อนหน้านั้นศาลได้พิพากษาจำคุกเธอหกเดือน

ในหลวงอานันท์ทรงทบทวนคดีในห้องพิจารณาที่ราษฎรเฝ้ามองผ่านช่องหน้าต่าง แล้วทรงมีพระราชดำรัสว่าจำเลยได้สำนึกผิดแล้ว และมีลูกอ่อนที่ต้องดูแล จึงโปรดให้รอลงอาญาและพระราชทานเงินส่วนพระองค์แก่เธอเพื่อเลี้ยงดูลูกอ่อน สำหรับราษฎรแล้ว นั่นบ่งบอกถึงพระปรีชาญาณ พระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น ที่อยู่ในสายเลือดของกษัตริย์ราชวงศ์จักรีพระชนม์ 20 ชันษาพระองค์นี้ในหลวงอานันท์ ทรงพระราชทานปริญญาบัตรแก่นักศึกษามหา วิทยาลัย สองครั้ง ซึ่งเป็นงานของกษัตริย์ที่ริเริ่มโดยรัชกาลที่ 7 เพื่อเชื่อมโยงสถาบันกษัตริย์เข้ากับผู้จะมาเป็นส่วนหัวของระบบราชการในอนาคต หลายครั้งที่เสด็จยังจังหวัดใกล้เคียงเพื่อแสดงความห่วงใยต่อเกษตรกร ทุกครั้งต้องเสด็จเยือนวัดท้องถิ่น และทำพิธีปล่อยนกปล่อยปลาอย่างที่ประชาชนนิยมกระทำกัน

ทางวังพยายามต่อสายไปกลุ่มทุนที่จอมพล.ป ไม่ให้ความสำคัญ มีการพบปะผู้นำมุสลิมไทย และชุมชนชาวจีนที่รัชกาลที่ 6 และจอมพลป.ตราหน้าว่าไม่รักชาติและเอาเปรียบเห็นแก่ได้ ซึ่งเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติในช่วงอัตคัดขัดสนหลังสงคราม พ่อค้าชาวจีนได้กลายเป็นเป้าโจมตี ก่อนหน้าพระราชวงศ์เสด็จนิวัติพระนครไม่นาน ได้เกิดจลาจลที่สำเพ็ง วันที่ 3 มิถุนายน 2489 ในหลวงอานันท์และพระอนุชาเสด็จไปเยือนสำเพ็งเป็นเวลาครึ่งวัน

ชาวสำเพ็งต่างก้มกราบ ถวายสิ่งของ และชูวัตถุบูชาทางศาสนาเพื่อซึมซับบุญญาธิการของพระองค์ บางคนเก็บเอาฝุ่นผงตามทางที่ในหลวงอานันท์และพระอนุชาเสด็จพระราชดำเนินผ่าน พระราชกรณียกิจทั้งหมดนี้ ได้รับการโหมประโคมผ่านทางหนังสือพิมพ์และวิทยุ โดยใช้ศัพท์แสงที่ไม่ได้ใช้มานานและไม่เป็นที่คุ้นเคย ย้ำเตือนทุกคนถึงความสูงส่งศักดิ์สิทธิ์ของสถาบันกษัตริย์



พระราชชนนีทรงเชื้อเชิญชนชั้นสูง และเชื้อพระวงศ์
เข้าร่วมเสวยอาหารกับราชวงศ์ และมีการพบปะสังสรรค์เรื่อยๆ ภายนอกพระบรมมหาราชวัง โดยเฉพาะที่
วังสระปทุมอันเป็นที่พำนักของพระนางเจ้าสว่างวัฒนาผู้เป็นย่าของทั้งสองพระองค์



23 ธันวาคม 2488 นายปรีดีพาทั้งสองพระองค์ไปเยือนค่ายเสรีไท ตลอดทั้งวัน ในหลวงอานันท์ทรงรู้สึกตื่นเต้นเมื่อได้ชมทหารแสดงการสู้รบ ทั้งสองพระองค์ก็ได้ยิงปืนลั่นกระสุนไปนับร้อยนัดทรงใช้เวลายิงปืนเสรีไทได้ถวายอาวุธปืนให้แก่ทั้งสองพระองค์ ซึ่งมีปืนพกโคลท์ .45สำหรับในหลวงอานันท์รวมอยู่ด้วย

จากวันนั้นเป็นต้นมา การยิงปืนก็กลายเป็นกิจกรรมโปรดในวัง เป้ายิงถูกวางอยู่ในสวน ทั้งสองพระองค์ก็ทรงยิงปืนจากระเบียงทั้งสองของพระที่นั่งบรมพิมาน บางวันทั้งสองพระองค์ทรงยิงไปหลายร้อยนัด แต่ละพระองค์ก็สะสมคลังแสงย่อยๆ ไว้ในห้องพระบรรทม โดยพระอนุชามีปืนคาร์ไบน์ ปืนสเต็น และปืนพกอัตโนมัติสองกระบอก
มีหลักฐานบางประการที่แสดงว่าในหลวงอานันท์ไม่ได้ทรงชอบภาวะที่พระองค์กำลังถูกผลักดันให้เป็นพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นคนที่ขี้อายและอ่อนไหวอย่างมาก มักให้พระชนนีเป็นผู้ตัดสินพระทัย ทรงหวาดกลัวการปรากฏพระองค์ในที่สาธารณะและทรงเก็บงำความรู้สึก พระองค์ทรงคิดถึงชีวิตที่มีเสรีภาพมากกว่าขณะที่ประทับอยู่ในเมืองโลซานน์

กล่าวกันว่าในหลวงอานันท์ส่อแววที่จะก้าวออกนอกลู่นอกทางของราชสำนัก บางคนบอกว่า ในหลวงอานันท์ได้รับแรงบันดาลใจจากงานเขียนของจอร์จ เบอร์นาร์ด ชอว์ (George Bernard Shaw) และทรงเอ่ยกับหลายคนว่า มีความคิดที่จะมอบพระราชบัลลังก์ให้แก่พระอนุชา และลงสมัครรับเลือกตั้งด้วยเป้าหมายที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมชได้กล่าวในภายหลังว่าในหลวงอานันท์ได้เคยซักถามตนเกี่ยวกับการหาเสียง เลือกตั้ง

หลังจากขบวนการเสรีไทยกับพันธมิตรขึ้นมา มีอำนาจแทนกลุ่มจอมพลป. ก็ได้เกิดแตกแยกกันเป็นสองฝ่าย คือ ฝ่ายสนับสนุนนายปรีดีและฝ่ายต่อต้านนายปรีดี โดยฝ่ายต่อต้านนายปรีดีได้รับการสนับสนุนจากพวกนิยมเจ้า ซึ่งยังคงหาหนทางแก้แค้นเอาคืนจากพวกคณะราษฎรที่ได้ทำการปฏิวัติ 2475

นายปรีดียอมปล่อยตัวพระองค์เจ้ารังสิต และพวกนิยมเจ้าคนอื่นๆ ออกจากคุกหลังจากจอมพลป.หลุดจากอำนาจไปในปี 2487 ประกาศให้วันพระราชสมภพของในหลวงอานันท์เป็นวันหยุดราชการ และมอบสถานะคืนให้แก่พระองค์เจ้ารังสิต ทั้งยังได้มอบเกียรติยศต่างๆคืนแก่รัชกาลที่ 7 หลังจากที่ถูกจอมพลป.ถอดออกไป
แต่นายปรีดีก็ไม่ลงรอยกับ มรว.เสนีย์เอกอัครราชทูตไทยประจำวอชิงตัน ในช่วงสงครามและเป็นผู้นำเสรีไทยในสหรัฐฯ มรว.เสนีย์สืบเชื้อสายมาจากรัชกาลที่ 2 เป็นพวกเลือดน้ำเงินที่ไปเรียนที่อังกฤษในทศวรรษที่ 2460

รวมทั้ง มรว.คึกฤทธิ์ พระองค์เจ้าเปรมบุรฉัตร พระองค์เจ้าจุมภฎพงษ์ บริพัตร พระองศ์เจ้าจุลจักรพงษ์ ม.ล.ปิ่น มาลากุล แล้วม.ล.มานิจ ชุมสาย ซึ่งทั้งหมดเป็นพวกเจ้าที่จะมีอนาคตอันรุ่งโรจน์ในราชสำนักและในราชการ หากไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ขึ้นมาเสียก่อน จึงทำให้พวกเขาล้วนเกลียดชังเคียดแค้นนายปรีดี โดยที่บทบาทในช่วงสงครามของมรว.เสนีย์ในการทำหน้าที่เสรีไทยก็มีจุดด่างพร้อยในเรื่องการไม่ให้ความร่วมมือระหว่างเสรีไทยปีกต่างๆ

หลังจากสงครามโลกยุติลง นายควง อภัยวงศ์ลาออกจากนายกรัฐมนตรี นายปรีดีเปิดทางให้มรว.เสนีย์ขึ้นเป็นนายกฯ ในวันที่ 17 กันยายน 2488 เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ความขัดแย้ง แต่มรว.เสนีย์แทบไม่มีฐานสนับสนุนเลย เพราะคนของนายปรีดียังคงครอบงำอยู่ทั้งในสภาและคณะรัฐมนตรี ภายในไม่กี่สัปดาห์ มรว.เสนีย์จึงต้องยุบสภา และกำหนดการเลือกตั้งเป็นวันที่ 6 มกราคม

โดยมรว. เสนีย์หวังจะนำฝ่ายนิยมเจ้ากลับเข้าการเมืองและมาเป็นพวกตน โดยก่อนยุบสภาได้เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ยกเลิกการห้ามเชื้อพระวงศ์เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง ซึ่งต้องอาศัยความเห็นชอบจากกษัตริย์ มรว.เสนีย์ส่งหนังสือไปยังราชเลขาธิการ นายเฉลียว ปทุมรส แต่นายเฉลียวซึ่งเป็นคนของนายปรีดีตอบกลับมาในวันที่ 1 พฤศจิกายน(หลังยุบสภา) ว่า นายปรีดีผู้สำเร็จราชการได้สอบถามความเห็นในหมู่เชื้อพระวงศ์แล้ว และต่างเห็นพ้องที่จะคงข้อห้าม นั้น ต่อไป

นายควง อภัยวงศ์ ก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์ขึ้นมาเพื่อสู้กับฝ่ายนายปรีดี โดยได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกสภา สมาชิกเสรีไทบางส่วน แล้วฝ่ายนิยมเจ้าที่ต่อต้านปรีดี มรว.เสนีย์และมรว.คึกฤทธิ์ตั้งพรรคก้าวหน้ารวมพวกที่เคยถูกจอมพลป.จับขังในปี 2476 และ 2482 และผูกใจเจ็บ โดยคนพวกนี้ถือว่าเสรีไทยทุกคน (ยกเว้นมรว.เสนีย์) คือคณะราษฎรและต้องการเอานายปรีดีกับผู้ก่อการทั้งหมดเข้าคุกให้ได้ เป็นพวกสุดโต่งที่ยังคงหวังกอบกู้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เพื่อฟื้นฟูอภิสิทธิ์ของตน

ผลการเลือกตั้ง ฝ่ายของนายปรีดีได้เสียงข้างมากในสภา และพรรคประชาธิปัตย์ของนายควงก็มาเป็นที่สอง พรรคก้าวหน้าของพี่น้องปราโมชได้ไม่กี่ที่นั่ง นายปรีดีปฏิเสธการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยตำแหน่งรัฐบุรุษของเขาที่แต่งตั้งโดยกษัตริย์ได้ให้อำนาจเขาในการให้คำปรึกษาแก่คณะรัฐมนตรีและราชสำนัก อยู่ในสถานะพิเศษ ไม่อ่อนไหวเปราะบางเหมือนตำแหน่งทางการเมืองทั่วไป แต่เมื่อนายปรีดีเสนอชื่อคนของฝ่ายตน สภากลับหันไปสนับสนุนนายควง ปลายเดือนมกราคม ในหลวงอานันท์ก็ลงพระนามแต่งตั้งนายควงเป็นนายกรัฐมนตรี นับเป็นชัยชนะครั้งสำคัญของฝ่ายเจ้า

นายควงแต่งตั้งพวกนิยมเจ้าหลายคนในตำแหน่งสำคัญๆ เพื่อค้ำยันตนเอง ที่ท้าทายมากที่สุดคือ การแต่งตั้งพระยาศรีวิสารวาจา ข้าราชสำนักเก่าแก่เป็นรัฐมนตรีคลัง เพราะในปี 2476 พระยาศรีวิสารวาจาในรัฐบาลพระยามโนปกรณ์คือผู้ที่ทำให้นายปรีดีต้องถูกเนรเทศออกนอกประเทศด้วยข้อหาคอมมิวนิสต์ จึงเป็นปรปักษ์กันอย่างรุนแรงภารกิจสำคัญคือการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ คณะยกร่างแบ่งเป็นสองฝ่ายระหว่างคนของนายปรีดีและฝ่ายนิยมเจ้าที่แต่งตั้งโดยนายควง คือ มรว.เสนีย์ กับมรว.คึกฤทธิ์ พระยาศรีวิสารวาจา พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร และพระยามานวราชเสวี

นายปรีดีได้เป็นประธานคณะยกร่าง ผลออกมากลับไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง รัฐธรรมนูญ 2489 เริ่มต้นเหมือนฉบับ 2475 กษัตริย์ใช้อำนาจผ่านทางรัฐสภา รัฐบาลและศาล นอกจากนี้ อำนาจกษัตริย์ยังค่อนข้างจำกัดอยู่เช่นเดิม การยับยั้งใดๆ ของกษัตริย์จะมีอันตกไปด้วยเสียงข้างมากในสภา
ทางวังยังคงต้องพึ่งพารัฐบาลอยู่ในเรื่องการเงิน และข้าราชบริพาร และข้อเสนอของทางวังที่จะมีคณะที่ปรึกษาถาวรสำหรับกษัตริย์ โดยเป็นอิสระจากรัฐบาลถูกปฏิเสธ ในหลวงอานันท์จึงไม่มีคณะที่ปรึกษาอย่างเป็นทางการ

สภาผู้แทนราษฎรถูกเปลี่ยนจากแต่งตั้งส่วนหนึ่งเลือกตั้งส่วนหนึ่ง มาเป็นเลือกตั้งทั้งหมดโดยประชาชน สภาที่สองเรียกว่าพฤฒิสภามีอำนาจจำกัดในทางนิติบัญญัติและการบริหาร แทนที่จะให้กษัตริย์แต่งตั้ง สมาชิกพฤฒิสภาจะมาจากการเลือกตั้งของสภาล่างโดยมีวาระหกปี เรื่องนี้เข้าทางนายปรีดี เนื่องจากคนของนายปรีดีกุมสภาล่างอยู่ พฤฒิสภาก็จะอยู่ในการควบคุมของนายปรีดีด้วยเท่ากับว่าจะกุมทั้ง 2 สภาได้ทั้งหมดไปอีกหลายปี

การเปลี่ยนแปลงบางอย่างก็เข้าทางวัง คือ การห้ามข้าราชการและทหารประจำการควบตำแหน่งสมาชิกสภาหรือรัฐมนตรี รัชกาลที่ 7พยายามให้มีบทบัญญัตินี้ในปี 2476 เพื่อบั่นทอนคณะราษฎร



มาคราวนี้นายปรีดีให้การสนับสนุน อาจเป็นเพราะต้องการสกัดผู้สนับสนุนจอมพลป.ซึ่งมีจำนวนมากในระบบราชการ การห้ามเชื้อพระวงศ์รุ่นใหญ่ ไม่ให้ลงเลือกตั้งก็ถูกยกเลิกไป ข้อนี้เป็นสิ่งที่มรว.เสนีย์เคยพยายามผลักดัน ตอนนี้จำกัดเฉพาะพระราชวงศ์และผู้สำเร็จราชการฯ เท่านั้น (รวมห้าคน) ที่เล่นการเมืองไม่ได้
ในหลวงอานันท์ลงพระนามให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 พฤษภาคม 2489



ทันทีที่เปิดสภาในเดือนมกราคม 2489 การขับเคี่ยวก็เป็นไปอย่างถึงดุเดือด คนของนายปรีดีตรวจสอบรัฐบาลตลอดเวลา กลุ่มของมรว.เสนีย์ก็พยายามใส่ร้ายป้ายสีนายปรีดี






คราวหนึ่ง มรว. เสนีย์กล่าวหานายปรีดีว่ายักยอกเงิน 500,000 เหรียญสหรัฐฯ ที่มรว.เสนีย์อ้างว่าได้ส่งมาให้นายปรีดีสำหรับปฏิบัติการเสรีไทในช่วงสงคราม จากการสืบสวนปรากฏว่า นายปรีดีไม่เคยได้รับเงินมากไปกว่า 49,000 เหรียญสหรัฐฯ และมีหลักฐานยืนยันทั้งหมด มรว.เสนีย์ก็ได้แต่กล่าวขอโทษสำหรับความทรงจำที่ผิดพลาดของตน





นายควง อภัยวงศ์ลาออกตำแหน่งนายรัฐมนตรีในเดือนมีนาคม 2489 หลังจากพ่ายแพ้การลงมติในร่างกฎหมายฉบับหนึ่ง







นายปรีดีจำต้องยอมรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ฝ่ายนิยมเจ้าก็ยิ่งโจมตีนายปรีดีอย่างดุเดือด โดยปล่อยข่าวว่านายปรีดีเป็นผู้นิยมสาธารณรัฐ เป็นคอมมิวนิสต์ และฉ้อฉลคอรัปชั่น ในเดือนเมษายน เมื่อรัฐบาลตัดสินใจยกเลิกข้อกล่าวหาอาชญากรสงครามต่อจอมพลป.ที่ได้ร่วมมือกับญี่ปุ่นในช่วงสงคราม (เพราะในตอนนั้นไทยยังไม่มีกฎหมายเรื่องอาชญากรสงครามจึงเอาผิดย้อนหลังไม่ได้) ฝ่ายนิยมเจ้าก็เดือดดาล เพราะพวกเขาต้องการให้จอมพลป.ได้รับโทษประหารชีวิต

แม้ว่าฝ่ายนิยมเจ้าจะทำอะไรไม่ได้มากในสภา แต่พวกเขาก็บ่อนทำลายอิทธิพลของปรีดีในราชสำนัก ซึ่งไม่ง่ายนัก เพราะนายปรีดีเคยเป็นผู้สำเร็จราชการฯ ที่ได้รับใช้ราชวงศ์อย่างใส่ใจและสร้างสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับทั้งในหลวงอานันท์และพระอนุชาภูมิพล

คนของนายปรีดีจำนวนมากทำงานในวัง เช่น ราชเลขาธิการ นายเฉลียว ปทุมรสและราชองครักษ์คนสำคัญเรือเอกวัชรชัย ชัยสิทธิเวช


แต่พระองศ์เจ้ารังสิตที่มีบทบาทสูงในราชสำนัก ร่วมกับมรว.เสนีย์และมรว.คึกฤทธิ์ ก็พยายามลดอิทธิพลของปรีดี และยุแหย่ให้พระราชวงศ์หันมาต่อต้านนายปรีดี ดูเหมือนว่าจะได้ผล หลายเดือนผ่านไป ความสัมพันธ์ระหว่างนายปรีดีและพระราชชนนีก็ย่ำแย่เหลือทน
พระองค์เจ้ารังสิตยุในหลวงอานันท์และพระชนนีเปลี่ยนตัวนายเฉลียว ปทุมรสราชเลขาธิการและเรือเอกวัชรชัย ชัยสิทธิเวช ราชองครักษ์ ในเดือนพฤษภาคม 2489

พระราชชนนีศรีสังวาลย์ยืนกรานให้ทั้งสองพระองค์ได้จบการศึกษามหาวิทยาลัยที่โลซานน์ ก่อนที่จะเสด็จกลับมาปฏิบัติหน้าที่อย่างจริงจัง สิบห้าวันหลังจากในหลวงอานันท์ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ สมาชิกสภาทำการเลือกตั้งพฤฒิสภา ซึ่งคาดว่าจะมีแต่คนของนายปรีดี วันที่ 1 มิถุนายน 2489


ในหลวงอานันท์ทรงเปิดสภาโดยมีพระอนุชาภูมิพลอยู่เคียงข้าง นายปรีดีลาออกจากนายกรัฐมนตรี หกวันให้หลังในหลวงอานันท์ก็ทรงแต่งตั้งนายปรีดีกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีใหม่ เมื่อได้ทรงโปรดเกล้าฯแต่งตั้งรัฐบาลและประกาศใช้รัฐธรรมนูญ แล้ว ในหลวงอานันท์ก็มีกำหนดเสด็จกลับสวิตเซอร์แลนด์ในวันที่ 13 มิถุนายน 2489




ในคืนวันที่ 7 มิถุนายน ในหลวงอานันท์โปรดเกล้าฯ ให้นายปรีดีเข้าเฝ้าเพื่อปรึกษาถึงการแต่งตั้งคณะผู้สำเร็จราชการฯ ระหว่างที่พระองค์ไม่ได้ประทับอยู่ประเทศไทย ด้วยคำแนะนำจากพระราชชนนี ในหลวงอานันท์เสนอชื่อพระองค์เจ้ารังสิตและพระองค์เจ้าธานีนิวัติ(กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร)

นายปรีดีอยากให้เป็นคนที่สามารถเข้ากันได้ ในหลวงอานันท์และนายปรีดียังเห็นไม่ลงรอยกัน ประเด็นสำคัญ คือพระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ซึ่งเป็นพวกคลั่งเจ้า และเป็นศัตรูคู่อาฆาตสำคัญของคณะราษฏร ส่วนจะเป็นการโต้เถียงที่รุนแรง หรือว่ายินยอมตกลงกันได้นั้นยังคงเป็นคำถามที่นำมาใช้อ้างกันภายหลัง โดยฝ่ายราชสำนักระบุว่านายปรีดีปฏิเสธพระราชประสงค์ของในหลวงอานันท์อย่างไร้ความเคารพและจากไปด้วยโทสะ


แต่ในหลวงอานันท์ จะไม่มีวันมีโอกาสที่จะทำการแต่งตั้งคณะผู้สำเร็จราชการ เพราะในวันที่ 9 มิถุนายน เวลาเก้าโมงเช้าเศษ อันเป็นเวลาที่ในหลวงอานันท์และพระอนุชาภูมิพลปกติเตรียมเสวยอาหารเช้า


กระสุนนัดหนึ่งก็ได้ลั่นทำลายความสงบในพระบรมมหาราชวัง มหาดเล็ก พระอนุชาภูมิพลและพระราชชนนีศรีสังวาลย์ ต่างรีบตรงไปยังห้องของในหลวงอานันท์ แล้วก็พบร่างของในหลวงอานันท์นอนหงายอยู่บนพระแท่น (เตียง) ชุดนอนผ้าไหมแบบจีนสีน้ำเงินของพระองค์พับเรียบร้อยภายใต้ผ้าคลุมเตียง พระเศียร (หัว)วางอยู่บนพระเขนย (หมอน)ราวกับกำลังหลับ

พระองค์สิ้นพระชนม์แล้ว จากกระสุนนัดเดียวตรงหน้าผาก ยิงในระยะเผาขน ปืนโคลท์ .45 ของกองทัพสหรัฐฯ วางอยู่บนเตียงข้างพระวรกาย ห่างจากพระหัตถ์ของพระองค์ไม่กี่นิ้ว

ขณะที่ราชสำนักอยู่ในความตื่นตระหนก ก็เกิดความเปลี่ยนแปลง อย่าง มหาศาล สำหรับ สมเด็จ พระ อนุชา ภูมิพล อดุลยเดชในทันใด ภายในไม่กี่ชั่วโมง เจ้าชายผู้ปราดเปรื่อง ผู้มักจะยิ้มแย้ม และเล่นหัวอยู่เป็นนิจ ที่สนใจในรถยุโรปและดนตรีแจ๊ซของอเมริกันมากกว่าสิ่งใดในเมืองไทย ก็ได้กลายมาเป็นกษัตริย์ในประเทศที่พระองค์ได้ใช้เวลาอยู่เพียงไม่ถึง 5 ปี ตลอดอายุ 18 พรรษาของพระองค์


 

และแทบไม่มีใครได้เห็นพระองค์แย้มพระสรวลหรือยิ้มในที่สาธารณะอีกเลยนับจากวันนั้น
ไม่ว่าจะอย่างไร
พระอนุชาภูมิพลแทบไม่มีทางเลือกอื่น การสืบราชบัลลังก์ของราชวงศ์จักรี จะต้องดำเนินต่อไป พระองค์เจ้ารังสิต พระราชชนนีศรีสังวาลย์และเชื้อพระวงศ์ระดับสูงคนอื่นๆ ล้วนต้องการให้พระอนุชาภูมิพลสืบราชสมบัติ และหลังจากมีการประชุมสภาในวาระฉุกเฉิน ก็มีการจัดพิธีราชาภิเษกอย่างเร่งรีบพร้อมด้วยพระและพราหมณ์ พระองค์เจ้ารังสิตได้ถวายมงกุฎแด่เจ้าฟ้าภูมิพล

หลายปีผ่านไป ในหลวงภูมิพลได้มีพระราชดำรัสอย่างราบเรียบว่า“มันเป็นหนทางเดียวที่เราจะแน่ใจได้ว่าพี่ชายจะได้รับการประกอบพิธีอย่างเหมาะสม อย่างไรก็ตาม ผู้คนขอให้เราครองราชย์ต่อ และมันเป็นสุญญากาศจำต้องได้รับการเติมเต็ม

........

ไม่มีความคิดเห็น: