วันอังคารที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ตำนานๆ 009027: ทรงไล่ล่าพระพิมลธรรม

ฟังเสียงพร้อมเพลงประกอบ :http://www.4shared.com/mp3/-q7wobZ3/The_Royal_Legend_027.html
หรือที่ : 
http://www.mediafire.com/?8t3128r73v4cat5

...........


หม่อมหลวงปิ่น
ยังช่วยให้วังกลับมาควบคุมสงฆ์อย่างเบ็ดเสร็จได้อีกครั้ง ซึ่งเป็นกระบวนการที่มีการสำแดงอำนาจกษัตริย์ ชนิดที่หยาบและร้ายกาจที่สุดครั้งหนึ่งในยุคนั้นเลยทีเดียว แม้ว่าฝ่ายธรรมยุติจะรุกกลับคืนมาได้หลังสงคราม ในช่วงทศวรรษ 2490 ฝ่ายมหานิกายที่ได้รับการสนับสนุนจากจอมพลป. ยังคงยึดกุมตำแหน่งบริหารสำคัญๆในอาณาจักรสงฆ์อยู่



พระเหล่านี้ขัดขวางแผนการของวัง ที่จะยกเลิกพระราชบัญญัติสงฆ์ 2484 ที่เป็นประชาธิปไตยของจอมพลป.และจะนำพระราชบัญญัติสงฆ์ปี 2445 ของรัชกาลที่ 5 กลับมาใช้ใหม่ ที่จะให้วังมีอำนาจควบคุมวงการพระสงฆ์โดยตรง พระพิมลธรรมเป็นหนึ่งในพระเถระชั้นผู้ใหญ๋ฝ่ายมหานิกาย ที่วังถือว่าเป็นอริราชศัตรูคนสำคัญ ที่จะปล่อยให้เติบโตโดดเด่นต่อไปไม่ได้


การกำจัดพระพิมลธรรม

พระพิมลธรรม เป็นพระนักพัฒนา การฟื้นฟูเผยแผ่พระพุทธศาสนาหัวก้าวหน้า ในยุครัฐบาลเผด็จการในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม จนถึงสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ งานที่พระพิมลธรรมได้บุกเบิกไว้ เป็นงานที่ท้าทายความคิดและความรู้สึกผู้คนในสมัยนั้นไม่น้อย ท่านจึงต้องเผชิญหน้ากับความขัดแย้ง ความริษยา และการคุกคามของผู้มีอำนาจในยุคนั้น



โดยเฉพาะ
วัง ที่ต้องการใช้พระศาสนา และพระสงฆ์เป็นเครื่องมือ รับใช้ลัทธิเทิดทูนบูชาพระมหากษัตริย์อย่างไม่ลืมหูลืมตา










พระพิมลธรรม (อาจ อาสโภ) นามเดิมว่า อาจ ดวงมาลา เกิดเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2446 ณ ตำบลบ้านโต้น อำเภอเมือง ขอนแก่น บรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุ 14 ปี เมื่ออายุ 18 ปี ได้ย้ายเข้ามาศึกษาวิชาพระพุทธศาสนาในกรุงเทพฯ ที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ได้รับอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดมหาธาตุฯ โดยมีท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารี) เป็นพระอุปัชฌาย์ฉายาว่า อาสโภ
สอบได้เป็นเปรียญธรรม 8 ประโยค เป็นครูสอนประจำสำนักวัดมหาธาตุฯ 7 ปี (2467 - 2475) ไปเป็นเจ้าอาวาสวัดสุวรรณดาราราม อยุธยา เพื่อฟื้นฟูการงานพระพุทธศาสนา ภายหลังได้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดอยุธยาถึง 16 ปี (2475-2491) ท่านได้สร้างผลงานไว้ไม่น้อย และได้ดำรงตำแหน่งสำคัญๆ เป็นสังฆมนตรีช่วยว่าการองค์การศึกษา เจ้าคณะตรวจการภาค แม่กองธรรมสนามหลวง เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่พระศรีสุธรรมมุนี พระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมไตรโลกาจารย์ ปี 2491

เป็นเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ วรมหาวิหาร เยื้องสนามหลวง พระราชาคณะชั้นเจ้ารองสมเด็จที่ พระพิมลธรรม ในปี 2492 และยังเป็นสังฆมนตรีว่าการองค์การปกครอง ( หรือรัฐมนตรีมหาดไทยของพระสงฆ์ไทย ) ถึง 4 สมัย
ความขัดแย้งรุนแรงที่เกิดขึ้นกับพระพิมลธรรม สืบเนื่องมาจากงานที่ท่านได้บุกเบิกไว้ในยุคนั้น สามด้าน คือ

1.การขอพระอาจารย์ชั้นธัมมาจริยะ จากประเทศพม่ามาช่วยสอนพระอภิธรรมปิฎกในเมืองไทย ในปี 2491 พระพิมลธรรมได้เคยปรึกษากับเอกอัครราชฑูตพม่า เพื่อขอให้ทางพม่าช่วยจัดส่งพระภิกษุ ชั้นธัมมาจริยะที่เชี่ยวชาญแตกฉานในพระไตรปิฎกมายังประเทศไทย พร้อมทั้งให้จัดส่งพระไตรปิฎกภาษาบาลี อรรถกา และฎีกาฉบับอักษรพม่ามาให้ด้วย เพราะจะเป็นประโยชน์ในการทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาร่วมกันเป็นอย่างมาก

ปี 2492 สภาการพุทธศาสนาแห่งสหภาพพม่าจึงได้จัดส่งพระภิกษุระดับบัณฑิต ชั้นธัมมาจริยะ มายังประเทศไทย 2 รูป ซึ่งทั้งสองท่านนี้ได้ช่วยวางรากฐานความรู้พระอภิธรรมปิฎก เป็นหลักสูตรให้ได้ใช้ศึกษาสืบต่อกันมาจนปัจจุบัน
ในปี 2493 ทางพม่าได้จัดส่งสมณฑูต พร้อมพระไตรปิฎกอีก 3 ชุด ในปี 2494 คณะสงฆ์แห่งประเทศไทย จัดส่งพระสมณฑูตพร้อมทั้งพระไตรปิฎกฉบับอักษรไทย ไปเยี่ยมตอบและมอบให้พม่า
ปี 2496 พระพิมลธรรมได้ขอให้สภาการพุทธศาสนาสหภาพพม่า จัดส่งพระเถระฝ่ายวิปัสสนาจารย์ ให้มาสอนวิปัสสนาในเมืองไทย 2 รูป คือ ท่านอูอาสภะ และท่านอูอินทวังสะ ซึ่งทั้งสองท่านนี้ได้เป็นกำลังเสริมสร้างการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานให้เจริญขึ้นในไทย โดยเริ่มเปิดสอนที่วัดมหาธาตุเป็นแห่งแรก และได้ดำเนินสืบเนื่องเรื่อยมาถึงปัจจุบัน




แม้งานเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาพระพุทธศาสนาในประเทศไทยอย่างมาก แต่
ยังมีคนไทยและพระภิกษุอีกไม่น้อยที่ยังมีอคติต่อพม่า จึงมีฆราวาสและพระเถระหลายรูปที่ไม่เห็นด้วย แต่ไม่กล้าออกมาต่อต้านขัดขวางโดยตรงในตอนนั้น




2.ส่งพระภิกษุนักเรียนพุทธศาสนบัณฑิตไปศึกษาต่อต่างประเทศ เพื่อต่อปริญญาโทและปริญญาเอก ดังที่ดำเนินเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน เป็นงานใหม่ที่ผู้บริหารคณะสงฆ์ไทยไม่เคยคิดมาก่อน และมองไม่เห็นว่าจะเป็นประโยชน์อย่างไร แต่พระพิมลธรรมยืนยันในเจตนาเดิมต่อคณะสังฆมนตรี เพราะเห็นว่าจะเกิดประโยชน์อย่างมากต่อศาสนา และได้เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างพุทธศาสนิกในประเทศต่าง ๆ

เมื่อพระพิมลธรรมซึ่งเป็นสังฆมนตรี ได้แสดงเจตจำนง และแจ้งเรื่องจะเดินทางไปส่งพระภิกษุสามเณรที่ไปศึกษาวิชาพระพุทธศาสนายังประเทศพม่า อธิบดีกรมการศาสนา (นายบุญช่วย สมพงศ์) กับท่านสังมนตรีในสมัยนั้น ต่างพากันคัดค้านโดยอ้างเหตุผลหลายประการ เช่น ประเทศพม่าเพิ่งหลุดจากความเป็นทาสของอังกฤษมาไม่นาน (เมื่อ 4 มกราคม 2491) ส่วนประเทศไทยมีเอกราชสมบูรณ์มีอิสรภาพมายาวนาน
แสดงว่าสถาบันของพม่าย่อมต่ำกว่าของไทย จึงไม่ควรไปศึกษาในประเทศที่ต่ำกว่าและพระพุทธศาสนาของไทย มีค่าสูงกว่าพระพุทธศาสนาของประเทศใดในโลก ไม่มีชาติใดสู้ได้ การนำนักศึกษาของเราไปศึกษาพระพุทธศาสนาของเขา จึงไม่เป็นการสมควร แต่ควรให้คนอื่นมาศึกษาในประเทศของเราจึงจะถูก ข้อสำคัญยิ่งกว่านั้นคือ การที่ท่านเจ้าคุณสังฆมนตรีนำพระภิกษุไปศึกษาในประเทศพม่าคราวนี้ จะเป็นการเสียสถาบันของประเทศ

พระพิมลธรรมปรารภแต่เพียงว่า การเดินทางในครั้งนี้ ได้รับความเห็นชอบจากสภามหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และได้เตรียมการทุกอย่าง พร้อมทั้งติดต่อเป็นการส่วนตัวกับผู้รู้จักในประเทศพม่า โดยการช่วยเหลือของอุปฑูตพม่าไว้พร้อมแล้ว และท่านได้ยืนยันว่า การเดินทางครั้งนี้เป็นเรื่องส่วนตัว ไม่ใช่เรื่องของตำแหน่งและราชการแต่อย่างใด

ครั้นเมื่อพระพิมลธรรมได้นำพระภิกษุที่จะเดินทางไปศึกษาต่อ ไปกราบลาท่านสังฆนายกในสมัยนั้น คือ สมเด็จพระวันรัต (ปลด กิตฺติโสภณมหาเถร) วัดเบญจมบพิตร นามเดิม ปลด เกตุทัต ) เพื่อรับโอวาทและอนุโมทนา แต่แทนที่ท่านสังฆนายกจะให้โอวาทอันไพเราะ ท่านกลับแสดงข้อขัดแย้งที่ท่านมีอยู่ออกมาให้พระหนุ่มที่จะเดินทางไปศึกษาต่อได้ฟังว่า ท่านพิมลธรรมเอ๋ย ท่านจะเอาดีไปถึงไหน การพระศาสนาในเมืองไทยเราดีที่สุดอยู่แล้ว

แต่การที่พระพิมลธรรมนำพระภิกษุไปศึกษาต่อยังประเทศพม่า ก็ประสบความสำเร็จ และได้รับการต้อนรับจากเจ้าหน้าที่และรัฐบาลพม่าเป็นอย่างดี และในกาลต่อมา ท่านยังได้ขยายขอบเขตในการส่งพระภิกษุไปศึกษาต่อไปยังประเทศอินเดีย ที่สถาบันนวนาลันทา ( หรือนาลันทาใหม่ - New Nalanda )ที่สร้างขึ้นใหม่เพื่อรำลึกถึงมหาวิทยาลัยนาลันทาเดิมที่ยิ่งใหญ่และรุ่งเรืองในอดีต และประเทศศรีลังกา ที่สถาบันธรรมฑูตวิทยาลัย เป็นต้น

นับเป็นการทำงานที่ท้าทายความคิดของสงฆ์และฆราวาสในยุคนั้นเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ดี การส่งภิกษุไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ ที่พระพิมลธรรมได้วางรากฐานไว้ในสมัยนั้น ก็ยังคงดำเนินการสืบเนื่องมาจนปัจจุบันนี้ ทั้งยังได้ขยายขอบเขตออกไปยังประเทศต่าง ๆ ในแถบยุโรปและอเมริกาอีกด้วย
3.การฟื้นฟูวิปัสสนาธุระ คือการตั้งสำนักวิปัสสนากัมมัฏฐานขึ้นที่วัดมหาธาตุฯเป็นแห่งแรก แล้วขยายให้กว้างขวางมากขึ้นโดยลำดับไปสู่อำเภอและจังหวัดต่าง ๆ เกือบทั่วประเทศ


  

ตั้งแต่ครั้งที่พระพิมลธรรมได้ส่งพระภิกษุไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ เพื่อนำความรู้กลับมาเสริมสร้างงานด้านพุทธศาสนาในประเทศไทย รวมทั้งการเชิญพระพม่ามาช่วยงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา ทั้งด้านคันถธุระ (การศึกษาเล่าเรียน รวมทั้งการเทศนาสั่งสอน การสร้างวัดวาอาราม ) และวิปัสสนาธุระ (การปฏิบัติจิตใจให้หลุดพ้นจากกิเลสตัณหา) ร่วมกันนั้น ได้ช่วยให้งานศาสนาในประเทศไทยก้าวหน้าขึ้นอย่างมาก
เกิดการตั้งสำนักวิปัสสนากัมมัฏฐานที่วัดมหาธาตุฯ เป็นแห่งแรก นับตั้งแต่ปี 2496 เป็นต้นมา มีพระเถรานุเถระและคณะอุบาสก – อุบาสิกาสมัครเข้าปฏิบัติธรรมเป็นจำนวนมาก จนเต็มพระวิหารหลวงและระเบียงพระอุโบสถทั้ง 4 ด้านและในปีต่อมาก็สร้างพระเถระวิปัสสนาจารย์ออกมาไม่น้อย ซึ่งได้ออกไปช่วยขยายงานพระศาสนาด้านวิปัสสนาธุระให้กว้างขวาง โดยตั้งสำนักสอนวิปัสสนากัมมัฏฐานขึ้นในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ

ในสมัยที่ประเทศพม่าตกลงจะประชุม ทำสังฉัฏฐคายนาพระไตรปิฎก (สังคายนาครั้งที่ 6) ที่กรุงย่างกุ้งนั้น ทางการพม่าได้อาราธนามายังคณะสงฆ์ไทย ขอให้ส่งพระสงฆ์ไปร่วมทำสังคายนา แต่ที่ประชุมคณะสังฆมนตรีไม่เห็นด้วย เพราะเห็นว่าพม่าเพิ่งจะได้เอกราชใหม่ ๆ การคิดจะทำสังคายนาเป็นการคิดใหญ่เกินตัว บางท่านเห็นว่าควรส่งไปร่วมสังเกตการณ์เพียงอย่างเดียว ไม่ควรไปร่วมประชุมลงมติ

มีเพียงพระพิมลธรรมรูปเดียว ที่เห็นว่าควรส่งพระคณะสังคีติการกะไทย (พระที่เข้าร่วมทำพิธีสังคายนา) ไปร่วมประชุมลงมติด้วย เพราะเป็นเรื่องสำคัญของพระพุทธศาสนาที่ไม่ควรนำอคติทางชนชาติและการปกครองเข้ามาข้องเกี่ยว พม่าได้เสนอเรื่องไปยังรัฐบาลไทย


เมื่อรัฐบาลมีมติให้คณะสงฆ์ไทยจัดส่งพระไปร่วม พระพิมลธรรมจึงต้องรับหน้าที่ เป็นประธานนำคณะพระสงฆ์ไทย ไปร่วมประชุมยังประเทศพม่า มีท่านพุทธทาสภิกษุร่วมเดินทางไปด้วย ท่านเป็นเพียงรูปเดียวในคณะสังฆมนตรีที่เห็นว่าควรส่งพระไทยไปร่วมประชุมสังคายนาดังกล่าว พระเถระสังฆมนตรีจึงยกให้งานนี้ เป็นภาระของท่านแต่เพียงผู้เดียว ในการไปร่วมร่วมประชุมกระทำฉัฏฐสังคายนา(ครั้งที่6)
ทำให้ท่านเป็นพระไทยรูปแรกที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลพม่าในปี 2497 ให้เป็น อัครมหาบัณฑิต พร้อมสังฆนายกแห่งกัมพูชา และได้เดินทางไปร่วมประชุมกระทำฉัฏฐสังคายนาที่ประเทศพม่าอีก 12 ครั้ง จนกระทั่งแล้วเสร็จ และทำการฉลองเมื่อปี 2500 พอดี

ในปี 2501 พระพิมลธรรมเป็นพระภิกษุไทยรูปแรกที่ได้รับนิมนต์ จาก ดร.แฟรงค์ บุชแมน Frank N D Buchman ผู้ก่อตั้งและประธานขบวนการส่งเสริมศีลธรรมหรือ เอ็ม.อาร์.เอ.เพื่อไปร่วมงานฉลองอายุ 80 ปีของดร.แฟรงค์ บุชแมน และครบรอบ 10 ปี ของเอ็ม.อาร์.เอ. ที่รัฐมิชิแกน สหรัฐอเมริกา พระพิมลธรรมพร้อมด้วยคณะยังได้เดินทางไปประกาศเผยแผ่พระพุทธศาสนาในรัฐต่างๆของสหรัฐ และกลุ่มประเทศต่าง ๆ ในยุโรปร่วมกับองค์กร เอ็ม.อาร์.เอ. อีกด้วย
ท่านเป็นพระสงฆ์ไทยรูปแรก ที่ได้เดินทางไปประกาศพุทธธรรมยังประเทศเหล่านั้น และเป็นพระสงฆ์ไทยรูปแรกที่ได้เข้าพบพระสันตะปาปา ประมุขศาสนาคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิก ณ กรุงวาติกัน เพื่อเชื่อมสัมพันธไมตรี และหาทางแลกเปลี่ยนศาสนฑูตระหว่างศาสนา พระพิมลธรรมได้รับนิมนต์จากเอ็ม.อาร์. เอ. เกือบทุกปีให้ไปร่วมเผยแผ่ศีลธรรมในประเทศต่างๆด้วยกัน โดยไม่ยึดถือศาสนาของใครว่าสำคัญ ท่านเห็นว่าเหมือนไปเผยแผ่ธรรมในพุทธศาสนานั่นเอง

งานเหล่านี้เป็นสิ่งที่พระมหาเถระชั้นผู้ใหญ่บางท่านไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะพระมหาเถระระดับสังฆนายก สมเด็จพระวันรัต (ปลด กิตฺติโสภณมหาเถร) และสังฆมนตรีบางท่าน เพราะท่านเหล่านั้นไม่เข้าใจและมองไม่เห็นว่าจะเป็นประโยชน์แก่พระศาสนาในทางใด แต่ไม่กล้าขัดขวางโดยตรง ได้แต่แสดงความเห็นคัดค้าน ด้วยการวิพากษ์วิจารณ์ต่าง ๆ นานา ก่อให้เกิดเป็นแรงกดดันและความขัดแย้งที่ค่อย ๆ สะสมเพิ่มมากขึ้นภายในสังฆสมาคมชั้นสูง

สาเหตุสำคัญที่นำไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงคือ ความอิจฉาริษยาในชื่อเสียงเกียรติคุณของพระพิมลธรรม ที่เฟื่องฟูมากในยุคนั้น เนื่องจากงานบุกเบิกใหม่ ๆ ที่พระพิมลธรรมได้มุ่งมั่นทำขึ้นเหล่านี้ยังผลให้ชื่อเสียง เกียรติคุณของท่านขจรขจายไปไกลยังนานาประเทศ ได้รับความเชื่อถือจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พม่า และกัมพูชา และได้รับเชิญเป็นสงฆ์รูปแรกให้เดินทางไปร่วมงานกับองค์กรทางศีลธรรมและศาสนาระดับนานาชาติ

พระพิมลธรรม ยังได้ทำงานที่ท้าทายความรู้สึกของผู้มีอำนาจยุคนั้น และมหาเถระสมาคมอีกไม่น้อย เช่น การไม่ออกกฎ ห้ามคอมมิวนิสต์บวชในพระพุทธศาสนา ในสมัยที่ท่านดำรงตำแหน่งสังฆมนตรีองค์การปกครอง รัฐบาลของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติป้องกันการเป็นคอมมิวนิสต์ 2493 โดยรัฐบาลได้ใช้กลไกทุกชนิดประชาสัมพันธ์ให้เห็นถึงอันตราย และความร้ายกาจของลัทธิคอมมิวนิสต์ที่มีต่อความมั่นคงของชาติ ศาสนาและสถาบันพระมหากษัตริย์
รัฐบาลได้มีหนังสือกราบเรียนสังฆนายกในสมัยนั้น คือสมเด็จพระวันรัต (ปลด กิตฺติโสภณมหาเถร) เพื่อขอให้ทางคณะสงฆ์ออกกฎห้ามรับคอมมิวนิสต์บวชในพระพุทธศาสนา เมื่อท่านสังฆนายกนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะสังฆมนตรี ปรากฏว่าสังฆมนตรีหลายรูปเห็นชอบด้วย และมีมติมอบให้พระพิมลธรรม (อาจ อาสภเถร) สังฆมนตรีว่าการองค์การปกครอง รับไปดำเนินการให้เป็นไปตามความมุ่งหมายของรัฐบาล แต่วันนั้นพระพิมลธรรมมิได้เข้าร่วมประชุมด้วย ทำให้ท่านตกอยู่ในฐานะลำบากต่อการดำเนินการเรื่องนี้ เพราะเห็นว่าจะเป็นผลเสียแก่พุทธศาสนามากกว่าผลดี แต่หากปฏิเสธก็เท่ากับเป็นการขัดนโยบายของรัฐบาลและมติคณะสังฆมนตรี เมื่อยังหาทางออกไม่ได้ท่านจึงต้องเก็บเรื่องนี้ไว้ก่อน

รัฐบาลก็ยังคงติดตามเรื่องและทวงถามอยู่เสมอ ท่านสังฆนายกและคณะสังมนตรีอีกหลายรูปต่างร้อนใจ มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ เป็นต้นว่าพระพิมลธรรมหัวดื้อบ้าง อวดดีบ้าง เป็นคอมมิวนิสต์บ้าง จนมีหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งไปขอสัมภาษณ์พระพิมลธรรมว่า การที่ท่านไม่ยอมออกกฎห้ามคอมมิวนิสต์บวชนั้นหมายความว่าท่านไม่กลัวคอมมิวนิสต์ใช่หรือไม่ ท่านก็ตอบว่า ท่านไม่กลัว เพราะท่านเป็นศิษย์พระพุทธเจ้า มีพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งจึงไม่กลัว

เมื่อข่าวถูกตีพิมพ์ออกไป ทำให้รัฐบาลร้อนใจ ต้องให้ พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และอธิบดีกรมตำรวจในสมัยนั้นไปพบพระพิมลธรรมด้วยตนเอง เพื่อขอทราบข้อเท็จจริงว่าท่านมีเหตุผลอย่างไรต่อเรื่องนี้ พระพิมลธรรมจึงได้ชี้แจงว่า ที่ท่านไม่กลัวคอมมิวนิสต์นั้น เพราะเชื่อมั่นว่าถ้าเราชาวพุทธเคารพสักการะพระรัตนตรัย ยึดพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่ง ศึกษาให้รู้ให้เข้าใจศาสนา ปฏิบัติตามคำสอนอย่างจริงจังแล้ว จะไม่มีสิ่งใดมาทำลายสถาบันที่เราเคารพได้เลย ปัญหาเฉพาะหน้าจึงอยู่ที่ว่า ทำอย่างไรคนจึงจะรู้และปฏิบัติธรรมในพุทธศาสนาได้อย่างถูกต้องและจริงจัง เมื่อแก้ปัญหานี้ได้ ความหวาดกลัวภัยพิบัติต่าง ๆ ก็จะหมดไป


และ
หากเราสามารถสอนพวกคอมมิวนิสต์ให้รู้ธรรมะ ให้เลื่อมใสในศาสนาได้ ก็จะเป็นการดี เป็นบุญกุศลด้วย ด้วยเหตุนี้ท่านจึงไม่กลัวคอมมิวนิสต์ และอยากเทศน์ให้คอมมิวนิสต์ฟังด้วย
เมื่อเหตุผลเป็นเช่นนี้ พล.ต.อ. เผ่า จึงกล่าวว่าเห็นด้วยกับท่าน และนำความไปกราบเรียนให้ท่านนายกทราบ เมื่อจอมพล ป. ได้รับทราบแล้ว ทางรัฐบาลก็ไม่ได้มีการขัดขวางในเรื่องนี้อีก
การที่พระพิมลธรรมได้ทุ่มเทสติปัญญา แรงกาย แรงใจ ในการพัฒนางานด้านพระพุทธศาสนาจนประสบความสำเร็จดังที่ปรากฏอยู่ กลับกลายเป็นเหตุให้เกิดความไม่เข้าใจกันกับพระมหาเถระชั้นผู้ใหญ่บางท่าน อันเป็นชนวนให้เกิดความขัดแย้ง การใส่ร้ายป้ายสี และการคุกคามพระพิมลธรรมถึงกับทำให้ท่านต้องถูกปลดออกจากสมณศักดิ์ โดยเฉพาะการริเริ่มตั้งสำนักวิปัสสนาขึ้นในวัดมหาธาตุได้ กลายเป็นข้ออ้างใช้กล่าวหาท่าน ว่า มีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ มีการซ่องสุมกำลัง เพื่อบ่อนทำลายประเทศชาติ เป็นเหตุให้ท่านถูกจับกุมตัวไปคุมขังไว้ ณ กรมตำรวจเป็นเวลาถึง 5 ปี ก่อนหน้านั้น มีข่าวลือให้ร้ายท่านจากฆราวาสและพระเถระบางรูปที่มีความเห็นขัดแย้งกับท่าน มีเสียงเรียกร้องให้ปลดท่าน หรือให้ท่านลาออกจากตำแหน่ง

กระทั่งท่านได้รับลิขิตจากสมเด็จสังฆนายก สมเด็จพระวันรัต (ปลด กิตฺติโสภณมหาเถร) วัดเบญจมบพิตร (บุตรของขุนพิษณุโลกประชานาถ (ล้ำ)มหาดเล็กใกล้ชิดรัชกาลที่ 5) ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2502 ตำหนิการทำงานของท่านอย่างรุนแรง ทั้งยังแนะนำให้ท่านลาออกจากคณะสังฆมนตรีเสีย ความว่า......

เรียน เจ้าคุณพระพิมลธรรม

เวลานี้ ผมมีความอึดอัดใจในปฏิปทาของเจ้าคุณเป็นอย่างยิ่ง

1. ในการที่เจ้าคุณทำสำนักกัมมัฏฐานให้งอกงามขึ้น ในด้านวัตถุ วัดมหาธาตุก็สกปรกรกรุงรังไม่มีระเบียบ วิหารคต พระระเบียง ซึ่งสมเด็จพระอุปัชฌายะของเจ้าคุณทำไว้ สะอาดงดงาม เป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใส ก็กั้นห้องรุงรังไปหมด ไม่ใช่แต่ภิกษุสามเณรเท่านั้นที่เข้าไปอยู่ในวงวิหารคต แม้อุบาสิกาก็เข้าไปอยู่ในวงนั้น เวลาอาบน้ำก็แลเห็นกัน เป็นวิสภาครมณ์ที่น่ารังเกียจที่สุด แม้คฤหัสถ์สำนักวัดมหาธาตุที่เขาหวังดีตักเตือน เจ้าคุณก็ไม่นำพาแก้ไข แม้เรื่องอันไม่ดีไม่งามเกิดขึ้นก็กลบไว้ แถวนอกโพธิ์ลังกาก็มีกะต๊อบรุงรังไปหมด พื้นวัด รางน้ำของถนนสกปรก ใครเตือนก็ว่าเรื่องเล็ก ทำ 2-3 วันก็แล้ว แล้วก็ไม่ทำ เดี๋ยวนี้แถบในพระอุโบสถ หลังพระประธาน ก็กั้นห้องให้พระอยู่

2. นี่หรือวัดท่านสังฆมนตรีปกครอง ไม่เห็นเป็นแบบอย่างอะไรได้ เจ้าคุณต้องการแต่ปริมาณมาก หาได้คำนึงถึงคุณภาพไม่ ในด้านกิจวัตรอันเนื่องด้วยพระวินัย การทำวัตรสวดมนต์ ที่สมเด็จพระอุปัชฌายะของเจ้าคุณกวดขัน เวลานี้เป็นอย่างไร พระลงอุโบสถขาดตั้งครึ่งวัด

3. เจ้าคุณก็เห็นไม่สำคัญ ช่างไม่รักษามรดกของอุปัชฌายะ มีทิฏฐิวิปลาสไปหรือ มีคฤหัสถ์ชั้นสูงชั้นอิสรชนบางท่านพูดว่า วัดมหาธาตุเดี๋ยวนี้เป็นบ้านธาตุ อย่างที่ผมเคยได้ยินมาแต่ก่อน ไม่รู้ว่าพระ ว่าผู้หญิงมีส่วนสัดกันอยู่อย่างไร

4. เรื่องจังหวัดอยุธยา พระเขาก็ไม่พอใจเจ้าคุณปกครองมากนักหรอก เจ้าคุณถามเขาต่อหน้า เขาเกรงสังฆมนตรีปกครอง เจ้าคณะจังหวัด เขาก็ตอบไปอย่างนั้น เจ้าคุณก็หลงตน วิธีการปกครองเจ้าคุณโดยมากก็นิ่ง แช่เย็นกลบไว้*


อาศัยเหตุการณ์ตามที่ประมวลมาพอสมควร ผมจึงมีความอึดอัดใจเป็นอย่างยิ่ง ทั้งคณะสังฆมนตรีฝ่ายเราก็อึดอัดใจไปตามกัน ฉะนั้น ถ้าเจ้าคุณหลีกทางลาออกจากคณะสังฆมนตรีเสีย ก็จะเป็นการเบาใจของเป็นอันมาก ทั้งป้องกันความเสื่อมศักดิ์ศรีของคณะสังฆมนตรีไว้ด้วย เพราะเวลานี้ คณะสังฆมนตรีถูกวิพากวิจารณ์จากหมู่ชนเป็นอันมาก เพราะเหตุแห่งเจ้าคุณ
งานอื่นที่เจ้าคุณจะพึงกระทำก็ยังมีอีกมาก เช่น จัดวัดมหาธาตุให้แจ่มใส ปรับปรุงมหาวิทยาลัยให้เรียบร้อยรุ่งเรืองเจริญ ก็จะเป็นเกียรติแก่เจ้าคุณต่อไป

สมเด็จพระวันรัต (ปลด กิตติโสภโณ)
สังฆนายก
.......................................

หมายเหตุ

1. วิหารคด หรือระเบียงคดที่นิยมสร้างรอบพระอารามหลวงทั้งสี่ด้านนั้น ในวัดมหาธาตุไม่มีมานานแล้ว สมเด็จพระวันรัตคงพูดเพ้อเจ้อไปเอง และท่านไม่เคยกั้นห้องในพระอุโบสถให้พระอยู่ กั้นแต่ในพระวิหาร เพราะว่าอยู่ว่างๆ
2.ที่กล่าวหาพระพิมลธรรมเน้นแต่ปริมาณคน โดยไม่เข้มงวดเรื่องพระวินัยก็เป็นเรื่องไม่จริง
3.เรื่องที่ว่าพระและผู้หญิงอยู่ปนกัน ก็ไม่เป็นความจริง

แต่หนังสือพิมพ์ก็ลงข่าวครึกโครม รัฐมนตรีก็ร้อนใจ บันทึกถาม แต่สังฆนายกไม่ตอบชี้แจงพอไปขอให้ให้สังฆมนตรีชี้แจง ก็นิ่งเฉยอ้างว่าเป็นเรื่องทัศนะไม่ตรงกัน จะทำอะไรได้
ตอนที่พระพิมลธรรมเป็นสังฆมนตรีว่าการองค์การปกครองนั้น สมเด็จสังฆนายกท่านดำรงตำแหน่งสังฆมนตรีว่าการองค์การศึกษาอีกตำแหน่งหนึ่ง ท่านมักมีความเห็นอยู่ว่า สังฆมนตรีว่าการองค์การปกครองนั้น มีอำนาจมีอภินิหารมาก ท่านมีความใคร่จะดำรงตำแหน่งนี้มานานแล้ว ท่านเคยขอแลกเปลี่ยนกับพระพิมลธรรม แต่พระพิมลธรรมกราบเรียนท่าน โดยว่าตนไม่ถนัดในการศึกษาเท่าสมเด็จพระสังฆนายก ดังนี้เสมอมาทุกครั้งพระพิมลธรรมได้ตัดสินใจไปพบสมเด็จพระวันรัต (ปลด กิตฺติโสภณ) สังฆนายก เพื่อเรียนชี้แจงนานถึง 4 ชั่วโมง
แต่กลับเพิ่มความไม่พอใจและไม่เข้าใจกันมากขึ้น ดังคำพูดของสมเด็จพระวันรัตที่กล่าวกับพระพิมลธรรม หลังจากที่คุยกันมานาน 4 ชั่วโมงว่า ท่านพิมลธรรมนี่ คุยกันตั้งแต่ ก–ฮ หาช่องลงกันไม่ได้สักตัวเลย เมื่อเป็นเช่นนี้พระพิมลธรรมจึงต้องยึดอุเบกขาธรรมเป็นที่ตั้ง ด้วยการวางเฉยต่อเสียงติฉินนินทาทั้งปวง ท่านยังคงมุ่งมั่นในการสร้างสรรค์ พัฒนางานด้านศาสนาต่อไป โดยไม่สนใจหรือหวั่นไหว ต่อคำคัดค้านหรือวิพากษ์วิจารณ์ใด ๆ ด้วยเชื่อว่างานเหล่านี้จะเป็นประโยชน์แก่พระพุทธศาสนาในประเทศไทยในอนาคต


5 พฤษภาคม 2503 สมเด็จพระวันรัต (ปลด กิตฺติโสภณมหาเถร) ซึ่งไม่ชอบพระพิมลธรรมได้รับแต่งตั้งเป็น
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก ฝ่ายวังที่มีหม่อมหลวงปิ่น และกรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากรเป็นตัวแทน ให้พระสังฆราชแช่แข็ง หรือเอาพระพิมลธรรมออกจากสังฆมนตรีและยกเลิกกฎหมายสงฆ์ปี 2484 และนำฉบับปี 2445 สมัยรัชกาลที่ 5 ของฝ่ายเจ้ากลับมาใช้

สมเด็จพระวันรัตก็ทำตามข้อตกลง โดยเสนอชื่อพระธรรมยุติ
สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ จวน อุฏฐายี วัดมกุฏกษัตริย์ เป็นสังฆนายก ซึ่งได้เสนอชื่อคณะสังฆมนตรีชุดใหม่ 9 รูปต่อสมเด็จพระสังฆราชฯ คือ



1. พระธรรมรัตนากร วัดสังเวชวิศยาราม เป็นสังฆมนตรีปกครอง
2. พระธรรมวราภรณ์ วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นสังฆมนตรีช่วยปกครอง
3. พระธรรมคุณาภรณ์ วัดสามพระยา เป็นสังฆมนตรีศึกษา
4. พระธรรมปาโมกข์ วัดราชผาติการาม เป็นสังฆมนตรีช่วยศึกษา
5. พระธรรมวโรดม วัดพระเชตุพน เป็นสังฆมนตรีเผยแผ่
6. พระธรรมจินดาภรณ์ วัดราชบพิธ เป็นสังฆมนตรีช่วยเผยแผ่
7. พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ วัดราชบพิธ เป็นสังฆมนตรีว่าการสาธารณูปการ
8.พระธรรมทัศนาธร วัดชนะสงคราม เป็นสังฆมนตรีช่วยสาธารณูปการ
9. พระธรรมมหาีวีรานุวัตร วัดไตรมิตรวิทยาราม เป็นสังมนตรีลอย

โดยไม่มีชื่อของพระพิมลธรรม (อาจ อาสโภ) ทั้งที่ท่านมีผลงานและเกียรติคุณมากมาย อายุก็ยังไม่มาก พร้อมที่จะบริหารงานต่อไปได้อีกหลายปี (ขณะนั้นท่านมีอายุ 57 ปี) ทำให้พระพิมลธรรม พ้นออกจากตำแหน่งสังฆมนตรีว่าการองค์การปกครอง

เมื่อท่านไม่ได้ดำรงตำแหน่งในคณะสังฆมนตรีแล้ว เหตุการณ์ก็น่าจะยุติลงเพียงเท่านั้น แต่เป้าหมายแท้จริงของผู้มีอำนาจในคณะสงฆ์ ต้องการกำจัดพระพิมลธรรมออกไปจากวงการสงฆ์ ดังที่เคยมีพระที่เคารพนับถือพระพิมลธรรม ได้มากราบเรียนท่านว่า พระสังฆราช ปลด กิตติโสภณ ได้ตั้งพระทัยและปรารภว่า จะทำพระพิมลธรรมให้เป็นพระมหาอาจ และจะทำพระมหาอาจให้เป็นนายอาจในที่สุด แม้จะได้รับทราบความข้อนี้แล้ว แต่ท่านกลับรู้สึกเฉย ๆ ท่านไม่สนใจที่จะป้องกันตัว หรือระวังอะไรเป็นพิเศษ ยังคงมุ่งหน้าปฏิบัติภารกิจที่มีอยู่ต่อไป

ต่อมาวันที่ 3 กันยายน 2503 สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ อุฏฺฐายีมหาเถร สังฆนายก ได้ทำหนังสือกราบทูลสมเด็จพระสังฆราช กิตฺติโสภณมหาเถร มีความว่า พระพิมลธรรม วัดมหาธาตุฯ ได้เสพเมถุนทางเวจมรรค (ทวารหนัก) คือรักร่วมเพศกับลูกศิษย์ภายในวัด และทำอัชฌาจาร (ผิดประเวณี) ปล่อยสุกกะ(น้ำกาม) ตำรวจสันติบาล ได้นำพยาน 5 คนมาให้คำยืนยันรับรองคำให้การในคดีดังกล่าว ต่อหน้ากรรมการสงฆ์ทีละคน พร้อมกับได้จดบันทึก และลงนามเป็นหลักฐานไว้พร้อมกันแล้ว คณะกรรมการสงฆ์จึงลงความเห็นว่า พระพิมลธรรมต้องศีลวิบัติ ขาดจากความเป็นภิกษุ ไม่สมควรทรงเพศเป็นบรรพชิต และไม่สมควรดำรงสมณศักดิ์ต่อไป

พร้อมกับขอประทานเสนอให้สมเด็จพระสังฆราช อริยวงศาคตญาณ (กิตฺติโสภณมหาเถระ) ทรงจัดการในชั้นปกครองต่อไป ซึ่งพระสังฆราช ได้มีพระบัญชาลงวันที่ 8 กันยายน 2503 ให้พระพิมลธรรมออกจากสมณเพศภายใน 15 วัน ดังมีข้อความว่า คณะกรรมการฝ่ายสงฆ์เห็นว่า ท่านถึงศีลวิบัติ ขาดจากความเป็นภิกษุแล้ว ไม่สมควรทรงเพศบรรพชิตในพระพุทธศาสนา และไม่สมควรดำรงสมณศักดิ์ต่อไป ..ขอให้ท่านพิจารณาตนด้วยตน ขอให้ท่านออกเสียจากสมณเพศ และหลบหายตัวไปเสีย ...ขอให้ปฏิบัติตามคำแนะนำนี้ภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่ปรากฏในลิขิตนี้

หลังจากได้รับลิขิตดังกล่าว พระพิมลธรรมตลอดจนคณะสงฆ์วัดมหาธาตุ จึงได้ทำหนังสือกราบทูลสมเด็จพระสังฆราช และผู้มีอำนาจฝ่ายบ้านเมือง เพื่อขอความเป็นธรรม และขอโอกาสชี้แจงเพื่อแก้ข้อกล่าวหาดังกล่าวหลายครั้ง แต่กลับไม่เคยได้รับโอกาสแก้ข้อกล่าวหา หรือมีการสอบสวนรับฟังข้อเท็จจริงแต่อย่างใด จนกระทั่งวันที่ 25 ตุลาคม 2503 สมเด็จพระสังฆราช อริยวงศาคตญาณ (กิตฺติโสภณมหาเถระ) ทรงอาศัยอำนาจตามมาตรา 46 แห่งสังฆาณัติระเบียบพระคณาธิการ 2486 มีพระบัญชาให้พระพิมลธรรมพ้นจากตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุฯ ฐานประพฤติผิดอย่างร้ายแรง

และในวันที่ 29 ตุลาคม 2503 สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (จวน อุฏฺฐายีมหาเถร) สังฆนายกได้เรียกคณะสังฆมนตรีประชุม ลงมติให้ถอดพระศาสนโศภณ (ปลอด อตฺถการี ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดราชาธิวาสออกจากสมณศักดิ์ และมีหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เสนอให้ถอดพระพิมลธรรมออกจากสมณศักดิ์ ในวันที่ 31 ตุลาคม 2503

วันที่ 11 พฤศจิกายน 2503 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี ได้ออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีถอดพระพิมลธรรม ออกจากสมณศักดิ์ มีความว่า ด้วยพระพิมลธรรม (อาจ อาสโภ) ฝ่าฝืนไม่ยอมปฏิบัติตามพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช ซึ่งคณะสังฆมนตรีได้พิจารณาแล้วมีมติว่า ไม่สมควรจะได้ดำรงอยู่ในสมณศักดิ์ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ถอดพระพิมลธรรมออกเสียจากสมณศักดิ์ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป...เมื่อเหตุการณ์มาถึงขั้นนี้ พระพิมลธรรมจึงจำต้องปฏิบัติตามพระบรมราชโองการ โดยไม่ได้ขัดขืนแต่อย่างใด

คดีความที่ท่านถูกตั้งข้อกล่าวหาว่าเสพเมถุนวิตถารกับศิษย์ในวัดนั้น เป็นเรื่องที่ไม่มีมูลความจริงเลยแม้แต่น้อย หากเป็นการใส่ร้ายป้ายสี และสร้างความมัวหมองในการดำรงสมณเพศของท่านอย่างเลวร้าย ท่านจึงจำต้องหาทางแก้ข้อกล่าวหานี้ เมื่อไม่อาจได้รับความเป็นธรรมจากคณะสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ และฝ่ายปกครองบ้านเมือง ท่านจึงต้องขอพึ่งศาลยุติธรรม โดยท่านได้มอบอำนาจให้ศิษย์ดำเนินการฟ้องพยานที่ให้การแก่ตำรวจเหล่านั้น เป็นคดีอาญาฐานใส่ร้ายแจ้งความเท็จและหมิ่นประมาท โดยเฉพาะนายวีรยุทธ์ วัฒนานุสรณ์ ซึ่งเป็นพยานปากสำคัญที่ให้การแก่ตำรวจ
ในที่สุดนายวีรยุทธ์ วัฒนานุสรณ์ ก็ได้สารภาพต่อศาล เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2503 ว่า ข้าพเจ้านายวีรยุทธ์ วัฒนานุสรณ์ ได้กราบเรียนต่อศาลรับสารภาพว่า ข้าพเจ้าได้กระทำผิดตามข้อกล่าวหาจริง และเพื่อรับบาปกรรมที่กระทำผิดไปแล้ว ตามวิธีการทางศาสนา ข้าพเจ้าได้กราบขอขมาโทษและขออโหสิกรรมแต่พระเดชพระคุณท่านต่อหน้าศาลแล้ว จึงขอโฆษณา ณ ที่นี้ว่า พระเดชพระคุณพระอาจ อาสโภ มิเคยได้ประพฤติล่วงละเมิดสิกขาบทเป็นศีลวิบัติ ดังที่ข้าพเจ้าต้องกล่าวใส่ร้ายพระเดชพระคุณท่านแต่ประการใด..

ถูกจับกุม และ บังคับให้สึก

หลังจากพระพิมลธรรมถูกถอดสมณศักดิ์ไปได้ปี กว่า ๆ ท่านก็ต้องเผชิญการคุกคามอย่างเลวร้ายอีกครั้ง เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2505 เวลา 12.30 น. มีนายตำรวจและสารวัตรทหารหลายคน บุกไปล้อมจับกุมท่านถึงกุฏิ ตั้งข้อหาว่า มีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ และกระทำผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร เป็นความผิดอาญามีโทษถึงประหารชีวิต ท่านถูกจับไปสอบสวนที่สันติบาลกอง 1
พร้อมทั้งมีบันทึกคำสั่งจากสมเด็จสังฆนายก สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ วัดมกุฏกษัตริย์ (จวน อุฏฺฐายีมหาเถร) ให้จัดการสึกพระภิกษุอาจ อาสโภ จากสมณเพศ เพื่อสะดวกแก่การสอบสวนคดี และเพื่อความปลอดภัยแห่งชาติ และพระพุทธศาสนาไว้ โดยสมเด็จสังฆนายกได้มอบอำนาจให้พระธรรมวโรดม สังฆมนตรีว่าการองค์การปกครองและให้เจ้าคณะจังหวัดพระนครดำเนินการสึกพระพิมลธรรม หรือ ภิกษุอาจ อาสโภทันที



ค่ำวันเดียวกัน พระธรรมคุณาภรณ์ (
ฟื้น ชุตินธโร หรือ ต่อมาคือสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ หรือ สมเด็จฟื้น วัดสามพระยา สังฆมนตรีศึกษา) เจ้าคณะจังหวัดพระนคร




พร้อมด้วยพระธรรมมหาวีรานุวัตร ( ไสว ฐิตวีโร สังฆมนตรีลอย วัดไตรมิตร ต่อมาได้เป็นพระวิสุทธาธิบดี )ได้เดินทางไปยังกรมตำรวจ สันติบาลกอง 1 เพื่อสึกพระภิกษุอาจ อาสโภ แต่ท่านได้ร้องขอความเป็นธรรมให้ท่านได้มีโอกาสต่อสู้คดีนี้ ในเพศบรรพชิตจนกว่าจะชนะหรือแพ้ในที่สุด
แต่เจ้าคณะจังหวัดพระนครไม่สามารถยินยอมได้ตามลำพัง เนื่องจากท่านไม่มีอำนาจหน้าที่จะอนุญาตได้ ทั้งการจับสึกครั้งนี้เป็นคำสั่งโดยตรงจากสังฆนายกและสังฆมนตรี


ภิกษุอาจ อาสโภ จึงขอโอกาส
เขียนคำร้องทุกข์ต่อผู้มีอำนาจทั้งสอง ให้ท่านได้มีโอกาสต่อสู้คดีในเพศบรรพชิต






แต่มีบันทึกที่ตอบกลับมาในคืนนั้น คือ
คำสั่งเฉียบขาดจากสมเด็จสังฆนายก (จวน อุฏฺฐายีมหาเถร) ให้ทำการสึกท่านโดยไม่มีการลดหย่อนผ่อนผันแต่อย่างใด



ท่านจึงได้ทำหนังสือปฏิญาณตนร้องขอความเป็นธรรมเป็นครั้งสุดท้าย มีข้อความว่า “...กระผมก็จะขอความกรุณาอีก คือไม่ยอมสึกตามข้อบังคับอันมิชอบด้วยพระธรรมวินัยและกฎหมายนั้น จะยอมเอาชีวิตบูชาพระรัตนตรัยไปจนถึงที่สุด ..และกระผมจะยังปฏิญญาณเป็นพระภิกษุในพระศาสนาอยู่ตลอดไป ถึงแม้จะมีผู้ใจโหดร้ายทารุณแย่งชิงผ้ากาสาวพัสตร์ ของกระผมไป กระผมก็จะนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ชุดอื่นแทน ซึ่งกระผมมีสิทธิตามพระธรรมวินัย และกฎหมาย จึงขอให้ท่านเจ้าคุณผู้รู้เห็นอยู่ ณ ที่นี้โปรดทราบและเป็นสักขีพยานให้แก่กระผม ตามคำปฏิญาณนี้ด้วย”

พระพิมลธรรมนั่งขัดสมาธิบนเก้าอี้นวม หลับตานับลูกประคำ เจริญพระพุทธคุณ 108 บท ปล่อยให้เจ้าคณะจังหวัด และพระธรรมมหาวีรานุวัตรเข้ามาเปลื้องผ้าเหลืองออก เมื่อเสร็จสิ้นแล้วพระธรรมคุณาภรณ์ เจ้าคณะจังหวัดและพระธรรมมหาวีรานุวัตรก็เดินทางกลับ

จำพรรษาที่สันติปาลาราม

ตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน 2505 พระพิมลธรรมต้องจำพรรษาอยู่ในห้องขัง ณ กรมตำรวจสันติบาลกอง 1 เรียกกันในหมู่ผู้ถูกคุมขังเมื่อท่านมาจำพรรษาอยู่ว่า สันติปาลาราม พระพิมลธรรมยังคงมีความสงบสบายใจเป็นปกติเช่นเดิม มิได้หวั่นไหว ทุกข์ร้อนใจในชะตากรรมที่ประสบแต่อย่างใด ท่านบันทึกไว้ว่า “รู้สึกขอบใจพระเจ้าอยู่มาก ที่พระพุทธองค์ทรงบันดาลให้เรามีน้ำใจเป็นนักกีฬา นับแต่วาระที่นายตำรวจเข้าไปติดต่อที่ห้องรับแขก แจ้งถึงการที่เขาจะมาจับกุมตัว จนกระทั่งถึงในขณะที่กำลังนั่งเขียนหนังสืออยู่นี้ จิตไม่เสื่อมทรุดหรือเรียกว่าไม่ย่นย่อต่ออารมณ์เลย คงเป็นปกติอยู่เช่นเดิม ก็ได้แต่ปีติโสมนัสจิตเกิดขึ้น ว่าเป็นโอกาสที่ดีหาได้ยากที่ประสบอยู่นี้ คนอื่นๆนับจำนวนหมื่นๆแสนๆไม่เคยได้ประสบเลย เราจึงเป็นบุคคลที่อยู่ในเกณฑ์ที่มีโชคดีที่สุดและเป็นการประลองกำลังใจไปในตัว..”

ท่านเห็นว่าการได้ใช้ชีวิตอยู่ในห้องขัง เป็นโอกาสอันดียิ่งที่ท่านจะได้ใช้เวลาเขียนหนังสือ ศึกษาพระธรรม และเจริญภาวนาอย่างเต็มที่ เพราะไม่ต้องถูกรบกวนด้วยภาระหน้าที่การงานด้านอื่น เหมือนเมื่อครั้งที่ดำรงตำแหน่งอยู่ ท่านกล่าวว่า “..จะอยู่ไหน ก็ใต้ฟ้าเหนือดินเหมือนกัน ทำประโยชน์ได้ทั้งนั้น แม้ในห้องขังเล็ก ๆ เราก็เป็นใหญ่ได้ เพราะใจของเราเป็นอิสระเสรีในขอบเขตของธรรม

ตลอดเวลาที่ท่านถูกคุมขัง ท่านได้รักษาการปฏิบัติเคร่งครัดตามพระธรรมวินัย ท่านเป็นพระที่แท้ คือเป็นพระที่หัวใจ ความเป็นพระของท่านไม่ได้ขึ้นอยู่กับผ้าเหลืองหรือการได้ตำแหน่งแต่งตั้งของสถาบันใด ๆ หากแต่อยู่ที่ใจที่ยึดมั่นในธรรม และปฏิบัติธรรมอยู่ตลอดเวลา จึงมีความหาญกล้าและเบิกบานในธรรมเป็นธรรมดา

ศาลพิพากษาพิจารณาคดี


เมื่อตำรวจได้จับกุมพระพิมลธรรม (อาจ อาสโภ)มาแล้ว ก็พยายามหาหลักฐานเอาผิดท่าน ว่าท่านมีการกระทำอันเป็นคอมมูนิสต์ และกระทำผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ตามข้อหาที่ได้ยัดเยียดให้ท่าน

ทางฝ่ายกลุ่มพระเถระชั้นผู้ใหญ่ผู้อยู่เบื้องหลังการให้ร้ายท่าน ก็มีการสูญเสียอย่างไม่คาดฝัน เพราะ สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตฺติโสภณมหาเถร) ได้สิ้นพระชนม์ลง เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2505 จากอาการเส้นเลือดใหญ่ในพระสมองแตกอย่างปัจจุบัน หลังการจับกุมพระพิมลธรรมไปคุมขังได้ไม่กี่เดือน สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ญาโณทยมหาเถร (อยู่) ได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ พระสังฆราชแทน

คดีของพระพิมลธรรมยังคงยืดเยื้อ กรมตำรวจพยายามหาหลักฐานมาสรุปสำนวน จนสามารถยื่นฟ้องต่ออัยการศาลทหารกรุงเทพฯ ได้ในปี 2507 ศาลทหารกรุงเทพฯ ได้นัดสืบพยานโจทก์และจำเลยหลายครั้ง เป็นระยะเวลานานถึง3 ปี ตั้งแต่ปี 2507-2509 ในระหว่างนั้นพระภิกษุสามเณร และสาธุชนนับพันที่เชื่อมั่นว่า พระพิมลธรรมเป็นผู้บริสุทธิ์ ได้พากันยื่นจดหมายร้องขอความเป็นธรรมให้กับท่าน เรียกร้องให้มีการพิจารณาคดีพิสูจน์ความจริง

จนกระทั่งวันที่ 30 สิงหาคม 2509 เวลา 9.00 น. ศาลทหารกรุงเทพได้มีพิพากษาว่า “ ตามที่ศาลได้ประมวลวินิจฉัยข้อเท็จจริงตามฟ้อง และกล่าวหามาหลายข้อหา หลายประเด็นนี้ มีสาระบ้าง ไม่มีสาระบ้าง ก็ไม่ปรากฏพยานหลักฐานใดๆเลย พอที่จะชี้ให้เห็นว่าจำเลยได้กระทำหรือน่าจะกระทำผิด ...แต่กลับมาต้องถูกออกจากเจ้าอาวาส ถูกออกจากสมณศักดิ์ ถูกจับกุม ถูกบังคับให้สละเพศพรหมจรรย์ นับว่ารุนแรงที่สุดสำหรับพระเถระผู้ใหญ่ที่ปวงชนเคารพนับถือ

พระธรรมโกศาจารย์ถึงกลับกล่าวว่า คิดได้อย่างเดียวว่า เกิดขึ้นเพราะความอิจฉาริษยากันในวงการสงฆ์ หรือมิฉะนั้นก็เป็นกรรมเก่าของจำเลยเท่านั้นเอง ...จำเลยถูกกลั่นแกล้งโดยไม่เป็นธรรมจริงๆ ไม่ได้กระทำผิดตามกล่าวหา ...ศาลนี้รู้สึกสลดใจและเห็นใจจำเลย แต่เชื่อว่าจำเลยซึ่งอบรมอยู่ในพระศาสนามานาน คงจะทราบซึ้งดีในอุเบกขาญาณที่ว่า สัตว์ทั้งปวงมีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย ทำกรรมใดไว้ดีหรือชั่วก็ตาม ก็จะเป็นกรรมทายาทรับผลของกรรมนั้น และคงจะตั้งอยู่ในคุณธรรมอันเป็นลักษณะของบัณฑิตในพระพุทธศาสนาสืบไป ...อาศัยเหตุผลและดุลยพินิจที่ได้วินิจฉัยมา จึงพร้อมกันพิพากษายกฟ้องโจทก์ ปล่อยจำเลยพ้นข้อหาไ

พระภิกษุสามเณรพุทธศาสนิกชนจำนวนนับพันที่ไปร่วมฟังคำพิพากษาครั้งสำคัญนี้ ต่างพากันชื่นชมยินดีอนุโมทนาสาธุการต่อพระพิมลธรรม ในการที่ท่านได้พ้นจากมลทินข้อกล่าวหาอันฉกรรจ์นั้น รวมระยะเวลาที่ท่านถูกคุมขังอยู่ในสันติบาลโดยไม่มีความผิดเป็นเวลานานถึง 5 ปี
ทันทีที่มีคำพิพากษาของศาลทหาร ท่านก็ได้ผลัดเปลี่ยนนุ่งห่มผ้าไตรจีวรสี กรัก (สีเหลืองม่น ย้อมจากแก่นขนุน)ที่ได้เตรียมมาแล้วทันที ณ ศาลทหารกรุงเทพฯ กระทรวงกลาโหมนั่นเอง จากนั้นท่านก็ได้กลับมาจำวัด ณ วัดมหาธาตุฯตามเดิม ท่ามกลางความชื่นชมยินดีของคณะสงฆ์วัดมหาธาตุ ท่านได้ช่วยทำนุบำรุงศาสนาอย่างเต็มกำลังเหมือนเดิมแทบทุกอย่าง ช่วยอุปถัมภ์การศึกษาพระอภิธรรมปิฎกและการวิปัสสนากัมมัฏฐานด้วยดีตลอดมา ทั้งยังได้เดินทางไปเทศน์ ปาฐกถา และอบรมศีลธรรมแก่ภิกษุสามเณร และพุทธศาสนิกชนตามสถานที่ต่างๆอยู่เสมอ

ท่านมิได้ต้องการจะกลับคืนสู่สมณศักดิ์ และตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุฯอีก ท่านต้องการจะใช้เวลาที่เหลืออยู่นั้นปฏิบัติธรรม บำเพ็ญประโยชน์ต่อไปอย่างสงบ แต่บรรดาสานุศิษย์ทั้งบรรพชิต และฆราวาส ได้ยืนยันที่จะเรียกร้องขอความเป็นธรรมให้แก่ท่านและท่านเจ้าคุณพระศาสนโศภณ (ปลอด อตฺถการี)อดีตเจ้าอาวาสวัดราชาธิวาสวิหาร เจ้าคณะธรรมยุติภาค 7-8-9 แม้ว่าพระพิมลธรรมจะได้เคยทักท้วงไว้แล้วก็ตาม แต่สานุศิษย์โต้แย้งว่า สิ่งกระทำลงไปนี้ไม่ได้กระทำเพื่อผลประโยชน์ของท่าน หากแต่เป็นการเรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่สังคมมนุษยชาติต่างหาก หากสังคมมนุษยชาติไม่ได้รับความเป็นธรรมแล้ว ก็ยากที่จะหาความสันติสุขได้

ทั้งนี้จำเป็นต้องกราบขออภัยท่านอย่างมาก ที่จำเป็นต้องขออาศัยกรณีของท่านขึ้นมาเป็นบรรทัดฐาน ในเรื่องดังกล่าว แม้จะต้องเผชิญกับอุปสรรคและการขัดขวาง จากกลุ่มพระเถระชั้นผู้ใหญ่บางกลุ่ม ที่ยังทรงอำนาจอยู่ในคณะสงฆ์ แต่บรรดาสานุศิษย์ได้พยายามดำเนินการเรียกร้องขอความเป็นธรรม ให้แก่พระพิมลธรรมเรื่อยมาอย่างต่อเนื่อง

จนกระทั่งวันที่ 31 พฤษภาคม 2518 ได้มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ทรงมีพระราชโองการโปรดเกล้าให้คืนสมณศักดิ์ ให้ท่านและพระศาสนโศภณดังเดิม และต่อมาก็ได้มีการประกาศแต่งตั้งให้พระพิมลธรรม กลับคืนสู่ตำแหน่งกรรมการสภามหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายกสภามหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2523 และได้กลับคืนสู่ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุฯ ดังเดิม ในวันที่ 5 ตุลาคม 2524 ทั้งนี้รวมระยะเวลา นับตั้งแต่ที่ท่านต้องต่อสู้กับอำนาจอยุติธรรม จากพระฝ่ายศักดินานิยมกษัตริย์ จนถึงวันที่ได้รับสมณศักดิ์และตำแหน่งกลับคืนดังเดิม เป็นระยะเวลาทั้งสิ้น 21 ปี ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น พระพิมลธรรมก็แก่เกินกว่าจะเป็นอุปสรรคต่อขบวนการสงฆ์นิยมเจ้าในรัชกาลพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอีกต่อไป

สมเด็จสังฆนายก สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ วัดมกุฏกษัตริย์ (จวน อุฏฺฐายีมหาเถร)ได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช พระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช เมื่อ 26 พฤศจิกายน 2508 และสิ้นพระชนม์โดยอุบัติเหตุ เพราะถูกรถยนต์บรรทุกขนาดเล็กส่วนบุคคล ขับสวนทางมาพุ่งเข้าชนรถยนต์พระประเทียบ ณ วันที่ 18 ธันวาคม 2514 เวลา10.05 น.

พระธรรมวโรดมวัดพระเชตุพน ได้เป็น สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น ปุณณ สิริ) ได้เพียง1 ปี 4 เดือนก็สิ้นพระชนม์ ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ด้วยอาการความทรงจำเสื่อม เป็นอัมพาต เป็นเนื้องอกในปอดข้างซ้าย กระจายไปที่สมอง มีพระโลหิตออกจากกระเพาะอาหาร ปอดบวม สิ้นพระชนม์ลงเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2516

การกำจัดพระพิมลธรรมถือได้ว่า เป็นอันสำเร็จเสร็จสิ้นตามพระราชประสงค์ในการยึดกุมพระศาสนา และวัฒนธรรมของชาติให้อยู่ในมือของวัง คราวนี้ประวัติศาสตร์ การบูชาและประเพณีตามโรงเรียน และวัดสามารถถูกบงการได้เพื่อสร้างการสนับสนุนต่อวัฒนธรรมและอำนาจของราชวงศ์จักรีอย่างไม่มีการตั้งคำถามใดๆ ในกลางทศวรรษ 2500 ความทรงจำที่เกี่ยวกับการปฏิวัติ 2475 และช่วงปลอดกษัตริย์สมัยจอมพลป.และนายปรีดีนั้น แทบเลือนหายไปโดยสิ้นเชิง หรือไม่ก็ถูกบิดเบือนให้กลายเป็นความชั่วร้ายของพวกคณะราษฎร
.....

ไม่มีความคิดเห็น: