วันพฤหัสบดีที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ตำนานๆ 009033 : ไม่มีน้ำพระทัยจากในหลวง

ฟังเสียงพร้อมเพลงประกอบ : http://www.4shared.com/mp3/ICPtXHqb/The_Royal_Legend_033_.html
หรือที่  : http://www.mediafire.com/?rpsp8rvzdoq592m


..................


ปี 2519 กลุ่มอันธพาลการเมืองโหมโจมตีฝ่ายซ้ายหนักข้อขึ้นบีบให้นักศึกษา กรรมกรชาวนาไปเข้าร่วมกับพคท. ด้วยการสนับสนุนจากรัฐมนตรีกลาโหม
พลตรีประมาณ อดิเรกสารและกลุ่มทหารที่ยังจงรักภักดีต่อถนอมและประภาส กิตติวุฒโทนำขบวนนวพล 15,000 คน ไปร้องให้นายกคึกฤทธิ์มอบอำนาจให้รัฐบาลทหาร



นายกคึกฤทธิ์ผ่านวิกฤติไปได้ โดยได้การสนับสนุนที่ไม่ค่อยเข้มแข็งนัก จากพลเอกฤษณ์ผู้ที่มองว่า นวพลเป็นอันตรายต่อสังคมมากกว่าเวียตนามบุกเสียอีก แต่รัฐบาลคึกฤทธิ์ก็ทานพลังอื่นๆไม่ไหว ตัวเลขคนตกงานมีถึงหนึ่งล้านคน พนักงานรัฐวิสาหกิจ 200,000 คน ประท้วงเรื่องค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น เมื่อนายกคึกฤทธิ์ยอมตามข้อเรียกร้อง ทำข้อตกลงเป็นครั้งแรกระหว่างรัฐบาลกับสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ เขาก็ถูกโจมตีว่าอ่อนแอและกระทั่งเอียงซ้าย

ต่อมาพลเอกกฤษณ์ สีวะรา ก็ยังต้องโบกมือลาเมื่อนายกคึกฤทธิ์กำหนดเส้นตายวันที่ 20 มีนาคม 2519 ให้สหรัฐฯ ถอนกำลัง 7,000 นายออกจากประเทศไทยและเริ่มคืนการควบคุมฐานทัพให้แก่ไทย สหรัฐฯร่วมมือกับปีกขวาไทย สร้างหลักฐานขี้นมา ว่าเวียตนามกำลังวางแผนจะบุกไทย และกองทัพก็เคลื่อนกำลังข่มขู่ ในที่สุดวันที่ 11 มกราคม 2519 ผู้นำกองทัพก็ยื่นคำขาด ให้นายกคึกฤทธิ์ลาออกและยุบสภา ไม่อย่างนั้นจะทำรัฐประหาร วันถัดมาคึกฤทธิ์ปฏิบัติตาม และในหลวงภูมิพลซึ่งไม่มีวี่แววว่าจะทรงไม่เห็นด้วย ก็ได้ทรงเห็นชอบต่อการยุบสภา และกำหนดการเลือกตั้งในวันที่ 14 เมษายน 2519

ประชาชนทั่วไปไม่ชอบการก้าวก่ายของพวกทหารขวาจัด แลเบื่อหน่ายความวุ่นวาย และปฏิบัติการขวาพิฆาตซ้าย จึงเป็นไปได้มากที่จะได้รัฐบาลผสมเสรีนิยมประกอบด้วยพรรคกิจสังคมของคึกฤทธิ์ พรรคประชาธิปัตย์ของเสนีย์ และพรรคสังคมนิยมของฝ่ายซ้าย ในการหาเสียงเลือกตั้ง พรรคเหล่านี้ต่างเน้นการถอนทหารสหรัฐฯ ความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ การช่วยเหลือคนจน การควบคุมกำกับกอรมน. การยกเลิกธุรกิจผูกขาดที่ทุจริตคอรัปชั่นของกองทัพ

ฝ่ายขวาจัดตอบโต้ด้วยการปลุกปั่นให้เกิดความหวาดกลัว โดยบอกว่าพรรคเสรีนิยมเหล่านี้เป็นฉากหน้าที่ทำงานให้พคท.กับเวียตนามที่จะบุกยึดไทยและทำลายศาสนาพุทธกับสถาบันกษัตริย์อย่างที่เกิดขึ้นในลาว

อุทาร สนิทวงศ์
รายการประจำวันของสถานีวิทยุทหารที่ดำเนินโดยญาติของพระราชินีสิริกิติ์ คือ พ.อ.อุทาร สนิทวงศ์ (ต่อมาได้เลื่อนยศเป็นพลโท ตำแหน่งราชองครักษ์)อ้างชื่อในหลวงภูมิพลและพระราชินีสิริกิติ์ตลอดเวลาขณะรายงานข่าวเท็จและปลุกระดมสร้างความเกลียดชังแก่ฝ่ายซ้าย กระทั่งกล่าวหา มรว.คึกฤทธิ์ กับมรว.เสนีย์ว่าเป็นแนวร่วมของคอมมิวนิสต์ สถานีวิทยุของทหารมีคลื่นสัญญาณแรงที่สุดในประเทศ จึงเป็นสถานีที่คนไทยส่วนใหญ่รับฟังได้

การเข้าข้างฝ่ายขวาจัดของวังในครั้งนี้เป็นที่ประกาศกันอย่างเปิดเผย เมื่อพระราชวงศ์สนับสนุนลูกเสือชาวบ้านกับกระทิงแดง ขณะที่ทรงเตือนถึงภยันตรายที่ไม่ระบุชื่อว่ากำลังคุกคามประเทศชาติอยู่ พระราชินีสิริกิติ์ทรงกล่าวประณามนักศึกษาฝ่ายซ้ายอย่างเปิดเผย และมีพระดำรัสว่าพระองค์ทรงโปรดตำรวจกับทหารมากกว่านักการเมือง

นักข่าวรายหนึ่งรายงานว่า พระราชินีสิริกิติ์ได้เรียกนักศึกษาในเหตุการณ์ 14 ตุลา ว่าเป็นพวกสร้างปัญหา และพูดถึงคนรวยว่าเป็นมนุษย์ ขณะที่คนอื่นไม่เป็นมนุษย์ นักข่าวรายนั้นได้บอกว่าสถาบันกษัตริย์ไม่ได้อยู่เหนือการเมือง ทำให้เขาถูกจำคุกสามปีข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ( นายประเดิม ดำรงเจริญ ผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์อธิปัตย์ของศูนย์นิสิตฯ ถูกฟ้องว่าตีพิมพ์บทกลอนหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ )

การเลือกข้างของพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลนั้นก็เกือบจะเปิดเผยพอๆ กับของพระราชินีสิริกิติ์ โดยเห็นได้จากการบีบนายกคึกฤทธิ์ออกจากตำแหน่ง ในหลวงภูมิพลทรงได้รับข้อเสนอในการทำรัฐประหารหลายครั้ง อย่างน้อยหนึ่งครั้ง จากพล.ร.อ. สงัด ชลออยู่ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ซึ่งมีรายงานในภายหลังระบุว่า ได้มีรับสั่งต่อพล.ร.อ.สงัด ว่ายังไม่ถึงเวลาที่เหมาะสม แต่ก็ทรงเสนอว่า ถ้ามีการรัฐประหาร ก็ควรให้นายธานินทร์ กรัยวิเชียร ผู้พิพากษาศาลฏีกาและสมาชิกระดับสูงของนวพลเป็นนายกรัฐมนตรี นายธานินทร์นั้นมีชื่อเสียงจากการจัดรายการวิทยุที่เชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์ และประณามคอมมิวนิสต์อย่างดุเดือดรุนแรง และเพิ่งตีพิมพ์บทความสนับสนุนกษัตริย์ที่เข้มข้น และลดความสำคัญของหลักกฎหมายกับกระบวนการประชาธิปไตย

ในฐานะนายกฯรักษาการระหว่างการเลือกตั้ง มรว.คึกฤทธิ์ได้ผลักดันให้สหรัฐฯถอนกำลังออกทั้งหมด ภายในเดือนมีนาคม 2519 เอกอัคราชทูตสหรัฐฯ ชารล์ส ไวท์เฮาส์ Charles Whitehouse เดินทางไปเชียงใหม่เข้าเฝ้า และกราบบังคมทูลเรื่องนี้ หลังจากนั้นไม่นาน มรว.คึกฤทธิ์ที่เสียหน้าและไม่พอใจ ก็ต้องเลื่อนเส้นตายออกไปเป็นเดือนมิถุนายนหลังเลือกตั้งซึ่งคงต้องเป็นเรื่องของรัฐบาลใหม่แล้ว ในหลวงภูมิพลทรงหักหน้ามรว.คึกฤทธิ์ และการเสียหน้าครั้งนี้ยังนำไปสู่การพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งของมรว.คึกฤทธิ์ อีกด้วย

หลังจากที่บ้านของนายกคึกฤทธิ์ถูกบุกรุกทำลายข้าวของ โดยตำรวจในเดือนสิงหาคม 2518 นายกคึกฤทธิ์สั่งจับกุมคนที่เป็นผู้นำ ในเดือนเมษายน 2519 ก่อนหน้าที่จะเริ่มพิจารณาคดี ผู้ต้องหารายนั้นได้รับอนุญาตให้บวชเป็นพระ ซึ่งเป็นการละเมิดกฎของสงฆ์เพราะมีคดีติดตัว แต่พระญาณสังวร เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศน์ผู้เป็นพระพี่เลี้ยงของในหลวงภูมิพล เป็นผู้ออกมาปกป้อง โดยพระญาณสังวรตัดสินเอาเอง ว่าหลักฐานในคดีนี้ ไม่มีน้ำหนัก ซึ่งเท่ากับว่าในหลวงภูมิพลทรงแทรกแซงในเรื่องนี้เพื่อหักหน้านายกคึกฤทธิ์

ช่วงสิบสองสัปดาห์ของการหาเสียงเลือกตั้ง นับเป็นเทศกาลเขย่าขวัญนักการเมืองฝ่ายเสรีนิยมให้ถอดใจ นวพลตั้งพรรคต่อต้านฝ่ายซ้ายขึ้นมา และ พล.ร.อ.สงัด ก็ปลุกปั่นสร้างความหวาดกลัวด้วยการประกาศ ว่าพวกคอมมิวนิสต์นักก่อวินาศกรรมได้เข้ามาในกรุงเทพฯแล้ว พลตรีประมาณที่มีสายสัมพันธ์กับกระทิงแดงและลูกเสือชาวบ้านเริ่มการรณรงค์หาเสียงของพรรคชาติไทยด้วยคำขวัญ ขวาพิฆาตซ้าย

15 กุมภาพันธ์ 2519 กระทิงแดงพยายามวางระเบิดสำนักงานใหญ่ของพรรคพลังใหม่ ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายซ้าย แต่ระเบิดทำงานก่อนเวลา ทำให้นายพิพัฒน์ กางกั้น เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ และนายประจักษ์ เทพทอง บาดเจ็บสาหัสจนต้องถูกตัดแขน พบบัตรสมาชิกกระทิงแดงในตัวของบุคคลทั้งสองทำให้มีหลักฐานชัดเจนว่า กระทิงแดงคือผู้อยู่เบื้องหลังการปฏิบัติการนี้ แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้ดำเนินการอย่างไรต่อกลุ่มกระทิงแดง พล.ต.ประมาณ อดิเรกสาร รองนายกรัฐมนตรี ได้แถลงให้ร้ายว่าการที่พรรคพลังใหม่ถูกขว้างระเบิด น่าจะเป็นการสร้างสถานการณ์เพื่อหาเสียง

 

28 กุมภาพันธ์ 2519 ดร.บุญสนอง บุญโยทยาน เลขาธิการพรรคสังคมนิยม ถูกยิงเสียชีวิตหน้าประตูบ้าน ขณะกลับจากงานเลี้ยง






21 มีนาคม 2519 มีการขว้างระเบิดใส่นักศึกษาประชาชนที่เดินขบวน ต่อต้านฐานทัพอเมริกาหน้าโรงภาพยนตร์สยาม มีผู้เสียชีวิต 4 คน



จนถึงวันเลือกตั้งมีคนถูกฆ่าตายมากกว่า 30 คนทั่วประเทศ เป็นฝ่ายก้าวหน้าหรือฝ่ายซ้าย ทำให้หลายคนต้องถอนตัวจากการเลือกตั้ง ด้วยความกลัวภัยถึงชีวิต แต่ประชาชนก็ยังคงปฏิเสธพวกอันธพาลการเมือง และการใส่ร้ายข้อหาคอมมิวนิสต์ จึงเลือกพรรคประชาธิปัตย์ของ มรว.เสนีย์ ปราโมชเป็นพรรคอันดับหนึ่ง ได้ 114 ที่นั่งจากทั้งหมด 279 และพรรคกิจสังคมของ มรว.คึกฤทธิ์ได้มา 45 ที่นั่ง แต่ตัว มรว.คึกฤทธิ์เองที่ลงสมัครในเขตดุสิตที่เป็นพื้นที่ทหาร แพ้นายสมัคร สุนทรเวช คนโปรดของพระราชินีสิริกิติ์และเป็นหัวหน้ากลุ่มขวาจัดในพรรคประชาธิปัตย์

มรว.เสนีย์กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่งโดยประนีประนอม ตั้งรัฐบาลผสมกับพรรคชาติไทย ของพลตรีประมาณ และพรรคธรรมสังคมที่เป็นกลุ่มทหารและธุรกิจอนุรักษ์ แนวนโยบายของรัฐบาลเสนีย์ ไม่ได้แตกต่างจากรัฐบาลคึกฤทธิ์มากนัก แต่มรว.เสนีย์ ลดโวหาร หรือการคุยโวโอ้อวดลง และประนีประนอมเรื่องการคงกำลังทหารของสหรัฐฯ และถ่วงดุลกลุ่มต่างๆ ในกองทัพ ด้วยการให้พลเอกกฤษณ์เป็นรัฐมนตรีกลาโหม และเอาคนของพลตรีประมาณเป็นรัฐมนตรีช่วย


แต่หลังการแต่งตั้งไปได้ไม่กี่วัน
พลเอกกฤษณ์ก็เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจล้มเหลว ข่าวลือแพร่สะพัดว่าพลเอกกฤษณ์ถูกวางยาจากการรับประทานข้าวเหนียวมะม่วงพระราชทาน นายกเสนีย์ตกที่นั่งลำบากอีกครั้ง เพราะไม่มีพลเอกกฤษณ์ที่เป็นทหารสายกลางที่จะยับยั้งทหารสายเผด็จการขวาจัด


ระหว่างนั้นลูกเสือชาวบ้านเติบโตอย่างรวดเร็ว มีสมาชิกใหม่กว่าหนึ่งล้านคน ที่เพิ่มเข้ามาในปี 2519 เป็นสิบเท่าของรุ่นที่มาในปี 2518 ส่วนใหญ่เป็นคนเมือง ผู้ใหญ่เกือบ 10 เปอร์เซ็นต์ของประเทศเป็นสมาชิกลูกเสือชาวบ้าน การฝึกอบรมตอนแรกเข้า ยิ่งกลายเป็นการฝึกรบต่อต้านคอมมิวนิสต์ที่เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ และเน้นย้ำแต่ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2519 ทั้งสองพระองค์เสด็จเป็นประธานในพิธีการชุมนุมของลูกเสือชาวบ้านไม่ต่ำกว่า 19 ครั้ง

โดยมักจะมีพระเจ้าลูกเธอฟ้าหญิงสิรินธร กับจุฬาภรณ์ร่วมด้วย บางครั้งลูกเสือชาวบ้านนับหมื่นมาชุมนุมกัน เพื่อจะได้เฝ้าชมพระบารมีของพระเจ้าอยู่หัว และรับฟังพระบรมราโชวาทสั้นๆ ที่ทรงประสิทธิ์ประสาทให้ลูกเสือขาวบ้านเป็นองค์กรของพี่น้องร่วมชาติ ที่ประกอบด้วยคุณธรรมแห่งการร่วมแรงร่วมใจ มีวินัย และทำงานหนัก อันเป็นคุณธรรมสูตรใหม่ของพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล ทรงเน้นย้ำบทบาทของลูกเสือชาวบ้านในการรักษาไว้ซึ่งความมั่นคง

แม้ว่าพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล จะไม่เคยระบุออกมาตรงๆ ว่าใครคือภัยคุกคามความมั่นคง แต่จากบทบาทและท่าทีของพระองค์ทำให้ทุกคนเข้าใจได้ดีว่า พระองค์หมายถึงนักศึกษา ชาวนาและกรรมกร และพวกที่ถูกหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ คือคนที่มิได้เป็นลูกเสือชาวบ้าน เดือน พฤษภาคม 2519 หลังจากพระราชพิธีประดิษฐานพระสารีริกธาตุในโบสถ์หลังใหม่ของจิตตภาวันวิทยาลัย ที่สร้างอุทิศสังฆราชที่มรณภาพ มีพระราชดำรัสต่อลูกเสือชาวบ้านจำนวนมากที่มาชุมนุม ว่าเป้าหมายของพวกเขาคือการช่วยให้ประเทศอยู่รอด


ทรงบอกว่า
ความสามัคคี จะทำให้ไทยอยู่รอดต่อไปเหมือนที่อยู่มาหลายร้อยปี ไม่มีใครสามารถล้มล้างเราได้ หากเราไม่ล้มล้างตัวเราเอง เดือนกรกฏาคม 2519 มีพระบรมราโชวาทต่อลูกเสือชาวบ้านที่สิงห์บุรีว่า เจตจำนงค์ร่วมกันของแต่ละคนจะกลายเป็นพลังแห่งความสามัคคี ที่เป็นเหมือนโล่ห์กำบังจากศัตรูให้ไม่กล้ามาทำลายความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันได้


ไม่มีทางเป็นไปได้เลยที่พระเจ้าอยู่หัวจะไม่ทรงทราบ ถึงกิจกรรมที่โหดร้ายป่าเถื่อน ของพวกอันธพาลลูกเสือชาวบ้าน กระทิงแดงและนวพล เพราะมีรายงานข่าวทั้งในหนังสือพิมพ์ไทยและต่างประเทศ แทบทุกวันและทุกฉบับ ความรุนแรงในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งปี 2519 เป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นฝีมือของกระทิงแดงและนวพล

ยิ่งกว่านั้น กิตติวุฒโฑ (พระเทพกิตติปัญญาคุณ) ผู้อำนวยการจิตตภาวันวิทยาลัย ยังแสดงคำประกาศอันโจ่งแจ้งในกลางปีนั้นโดย ให้สัมภาษณ์นิตยสารฉบับหนึ่งว่าการฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป อันที่จริงการฆ่าคอมมิวนิสต์ถือเป็นหน้าที่ของชาวพุทธ ได้บุญเสียด้วยซ้ำไป นิตยสารฉบับนั้นรายงานว่า กิตติวุฒโฑบอกว่าการฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่ใช่เป็นการฆ่าคน เพราะใครก็ตามที่ทำลายชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เดรัจฉานเหล่านั้นไม่ใช่มนุษย์ ดังนั้นเราต้องไม่ฆ่ามนุษย์ แต่ฆ่าปีศาจ นี่เป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคน...การบอกว่าการฆ่ายังไงก็เป็นบาป บาปนั้นเล็กน้อยมาก แต่เป็นบุญมากสำหรับการปกป้องชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เหมือนกับ...เวลาเราฆ่าปลาเพื่อแกงสำหรับถวายพระ การฆ่าปลานั้นบาปแน่ แต่เราเอาไปใส่บาตรได้บุญมากกว่า

คำพูดของกิตติวุฒโฑก่อให้เกิดปฏิกิริยาไม่พอใจที่รุนแรงมาก มีการเรียกร้องให้ลงโทษหรือสึกออกจากพระ มหาเถรสมาคมที่เป็นของพระเจ้าอยู่หัว โต้ว่าไม่มีหลักฐานจะเอาผิด กิตติวุฒโฑพูดย้ำตามแบบเดิมคราวนี้ประกาศว่าการฆ่าคนไทยที่เป็นคอมมิวนิสต์ 50,000 คนจะเป็นบุญสำหรับคนไทยอีก 42 ล้านคนที่เหลือ พระอื่นๆ ที่เป็นสายของในหลวงก็พากันขานรับ เช่น พระภาวนาวรคุณที่สมุทรสาคร ที่บอกว่าควรต้องฆ่านักศึกษา 30,000 คนเพื่อรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์

พระเจ้าอยู่หัวและพระราชินีสิริกิติ์ไม่ได้พยายามแยกพระองค์ออกห่างแต่อย่างใด ทั้งสองพระองค์ยังคงเสด็จพบปะสนทนาธรรมกับกิตติวุฒโทเป็นการส่วนพระองค์

และเสด็จร่วมงานพิธีของพวกกระทิงแดง กับค่ายฝึกอบรมที่ในหลวงทรงทดสอบยิงปืนของพวกกระทิงแดง ซึ่งมีการรายงานข่าวโดยสื่อมวลชนอย่างเปิดเผย ลูกเสือชาวบ้านบางหน่วยเข้ารับการฝึกอบรมการปฏิบัติการ สร้างความรุนแรงที่ค่ายนเรศวรของตชด. ใกล้วังไกลกังวลที่หัวหิน ซึ่งในหลวงและฟ้าชายเสด็จซ้อมยิงปืนเป็นประจำ

การให้ท้ายอย่างเงียบๆของพระเจ้าอยู่หัว ได้กลายมาเป็นเรื่องโจ่งแจ้งชัดเจนและดุเดือดรุนแรงในครึ่งหลังของปี 2519 ด้วยอาการหวาดผวาตื่นกลัวคอมมิวนิสต์ ที่ลุกลามไปในหมู่คนไทยจำนวนมาก รัฐบาลเสนีย์เริ่มซวนเซ วิทยุและโทรทัศน์ ซึ่งทั้งหมดเป็นของรัฐ และส่วนใหญ่ควบคุมโดยกองทัพ ได้โหมกระหน่ำโฆษณาชวนเชื่อ ต่อต้านฝ่ายซ้ายและโจมตีรัฐบาลเสนีย์

ขณะที่กระทรวงมหาดไทย ภายใต้การสั่งการของพลตรีประมาณและนายสมัคร ก็เริ่มจับกุมนักเคลื่อนไหวฝ่ายซ้าย ฝ่ายขวาจัดยังคงโหมประโคมภัยของคอมมิวนิสต์ที่เกินจริงอยู่เช่นเดิม พคท.ยังคงจำกัดการปฏิบัติการอยู่แค่การโจมตีตำรวจ ตชด. และหน่วยทหารในพื้นที่ห่างไกลเท่านั้น และไม่ได้ขยายพื้นที่ปฏิบัติการเพิ่มขึ้นเลย และยังคงไม่กล้าวิจารณ์หรือโจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องภัยการก่อการร้ายประเมินภัยคุกคามของพคท.ว่าได้ลดระดับความเป็นภัยต่อรัฐลงไปอีก หนังสือพิมพ์ที่น่าเชื่อถือเขียนว่าพคท.จะประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวขึ้นอยู่กับการดำเนินนโยบาย และการปฏิบัติการของรัฐบาลที่กรุงเทพฯล้วนๆ

นักการทูตตะวันตกรายหนึ่งกล่าวว่า รัฐบาลไทยกับสื่อมวลชนอธิบายอยู่ตลอดเวลาว่า ปัญหาของประเทศไทยอยู่ที่พวกคอมมิวนิสต์ กับประเทศเพื่อนบ้าน แต่ศัตรูที่แท้จริงนั้นอยู่ในกรุงเทพฯนี่เอง เป็นพวกคนชั้นสูงที่เดินทางไปมาบนรถเบนซ์ติดแอร์นั่นเอง อาชญากรรมและความรุนแรงเกิดขึ้นทุกหัวระแหงทั่วประเทศ คอรัปชันระบาดไปทั่วทั้งระบบ ช่องว่างทางรายได้ระหว่างกรุงเทพฯกับต่างจังหวัด การปฏิรูปสังคมและเศรษฐกิจก็ไม่ได้ผลไม่คืบหน้า

แต่พระเจ้าอยู่หัวไม่สนพระทัยกับความเห็นเช่นนี้ และทรงปฏิเสธความพยายามปฏิรูปของรัฐบาลเสนีย์ เมื่อนายกเสนีย์นำร่างกฎหมายปี 2518 สมัยรัฐบาลคึกฤทธิ์ที่จะขยายการเลือกตั้งลงสู่ระดับท้องถิ่น กลับมาเสนอใหม่ในเดือนมิถุนายน 2519 สภาลงมติผ่านร่างกฎหมายด้วยเสียง 149 -19 แต่ทรงปฏิเสธที่จะลงพระปรมาภิไธย หรือแม้แต่จะส่งร่างกฎหมายกลับ ซึ่งเป็นการใช้พระราชอำนาจยับยั้งกฎหมาย โดยไม่ทรงต้องบอกกล่าว ทำนองเดียวกันรัฐบาลเสนีย์ก็ไม่ได้รับการสนับสนุน ในการทำข้อตกลงเรื่องกำลังทหารสหรัฐฯ โดยกองบัญชาการทหารสูงสุดปฏิเสธข้อเสนอของรัฐบาลเสนีย์อย่างไม่ใยดี

เดือนสิงหาคม 2519 พระเจ้าอยู่หัว กองทัพและนักการเมืองขวาจัดก็เหิมเกริมยิ่งขึ้น โดยพาจอมพลถนอมกับประภาสกลับเข้ามาในประเทศ ทั้งๆที่รู้ว่าจะต้องเกิดการประท้วงวุ่นวายใหญ่โต



จอมพลประภาสกลับมาในวันที่ 17 สิงหาคม ด้วยการคุ้มกันจากกองทัพโดยอ้างว่าจำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาลเกี่ยวกับนัยน์ตา นักศึกษาราว 20,000 คนชุมนุมประท้วงที่ธรรมศาสตร์เป็นเวลาสี่วัน จนเกิดการปะทะกับกระทิงแดงและนวพล ทำให้มีคนเสียชีวิตสี่คน จอมพลประภาสได้เข้าเฝ้าในหลวงภูมิพล และหลังจากนั้นไม่นานก็กลับออกไปนอกประเทศ ดูเหมือนว่าในหลวงภูมิพลจะทรงโปรดฯ ให้กลับมาในที่แรก แต่ได้ทรงเปลี่ยนพระทัยว่ายังไม่ถึงเวลาที่เหมาะสม

หลังจากที่จอมพลประภาสกลับไป ภรรยาของจอมพลถนอม (ท่านผู้หญิงจงกล) ก็กลับมาเจรจากับรัฐบาล เพื่อนำจอมพลถนอมกลับมา อ้างว่าต้องการกลับมาเยี่ยมบิดาที่กำลังป่วย รัฐบาลนิ่งเฉยไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะกลัวจะเกิดวุ่นวายหนักขึ้นไปอีก ไม่ว่าจะให้จอมพลถนอมกลับมาหรือไม่ก็ตาม ก็คงต้องเกิดเรื่องวุ่นวายของการประท้วงจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง นายสมัครรัฐมนตรีช่วยมหาดไทยและเป็นคนใกล้ชิดของพระราชินีสิริกิติ์ ได้เดินทางไปสิงคโปร์ และบอกจอมพลถนอมว่าพระเจ้าอยู่หัวสนับสนุนให้จอมพลถนอมกลับเข้าประเทศ

19 กันยายน 2519 จอมพลถนอม ก็เดินทางกลับมาโดยก้าวลงมาจากเครื่องบินในชุดเครื่องแบบที่คาดไม่ถึงคือ นุ่งห่มจีวร ในคราบของสามเณร เดินทางจากสิงคโปร์ โดยมีนายทหารและนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ไปรอต้อนรับ พอมาถึงสนามบินก็ตรงดิ่งไปยังวัดบวรนิเวศน์เวลา10.00 น.ทำการบวชพระแบบส่วนตัว ซึ่งผิดพระธรรมวินัยที่บัญญัติให้การบวชต้องกระทำโดยเปิดเผย ให้คนทั่วไปมีส่วนร่วม และจอมพลถนอมก็ยังมีคดีอาญาติดตัว กลุ่มยุวสงฆ์เรียกร้องให้พระสังฆราชตรวจสอบพระญาณสังวร พระสังฆราชได้ตอบว่า การบวชนั้นถูกต้อง และไม่ขอยุ่งเกี่ยวเรื่องทางโลก

วิทยุทหารโดยพ.อ.อุทาร สนิทวงศ์ ได้โจมตีนักศึกษาที่ต่อต้านคัดค้าน ว่าเป็นผู้ทำลายศาสนา โฆษกรัฐบาลแถลงว่าจอมพลถนอม เข้ามาบวชตามที่ได้ขอรัฐบาลไว้แล้ว และ น่าจะพิจารณาตัวเองได้หากเกิดความไม่สงบขึ้น


การที่พระเจ้าอยู่หัวทรงอนุญาตให้จอมพลถนอมบวชและจำวัดที่วัดบวรนิเวศน์ เท่ากับเป็นการประกาศว่าพระองค์ทรงสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพราะวัดบวรฯเป็นวัดประจำราชวงศ์จักรีมาตั้งแต่สมัยเจ้าฟ้ามงกุฎ (ก่อนเป็นรัชกาลที่ 4) เป็นเจ้าอาวาส พระราชโอรสชั้นเจ้าฟ้าตั้งแต่รัชกาลที่ 5 จนถึงรัชกาลที่ 9 ก็ล้วนผนวชที่วัดบวร โรงเรียนธรรมยุติหลวงก็มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่นี่

สมเด็จพระญาณสังวรเจ้าอาวาส ก็เป็นที่พระอาจารย์สอนการปฏิบัติธรรมถวายพระเจ้าอยู่หัว สายพระรกของพระโอรสพระธิดาทั้งสี่พระองค์ในพระเจ้าอยู่หัว ก็ได้รับการประกอบพิธีฝังอยู่ที่วัดบวร ทุกสิ่งที่สำคัญที่เกิดขึ้นที่วัดนี้ล้วนเกี่ยวกับราชวงศ์จักรีทั้งสิ้น การรับจอมพลถนอมให้บวชที่วัดบวรจะไม่มีทางเกิดขึ้นได้หากพระเจ้าอยู่หัวไม่ทรงมีพระบัญชา เมื่อตอนจอมพลถนอมกลับมาถึง วัดบวรฯก็ถูกห้อมล้อมปกป้องทั้งวันทั้งคืนโดยพวกกระทิงแดง

รัฐบาลเสนีย์กระหืดกระหอบมาขอให้จอมพลถนอมออกไปจากประเทศก่อนที่จะเกิดความวุ่นวาย นายสมัครประกาศต่อคณะรัฐมนตรีว่า พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลและพระราชินีสิริกิติ์ได้ทรงเห็นชอบต่อการกลับมาของจอมพลถนอม และก็เป็นไปตามคาด คือ เกิดการชุมนุมประท้วงใหญ่โต และไม่ได้มีแต่นักศึกษาเท่านั้น กลุ่มองค์กรต่างๆเช่นสภาทนายความได้เรียกร้องตำรวจให้ดำเนินคดีจอมพลถนอมในการสั่งการสังหารประชาชนในเหตุการณ์ 14 ตุลา

21 กันยายน 2519 นายสุรินทร์ มาศดิตถ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแถลงว่ารัฐบาลมีมติจะให้จอมพลถนอม ออกไปนอกประเทศโดยเร็ว
22 กันยายน 2519 สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์และฝ่ายค้าน ร่วมกันลงมติให้ขับจอมพลถนอมออกนอกประเทศ ตอนที่จอมพลถนอมเดินทางกลับประเทศนั้น ในหลวงและพระราชินีทรงประทับอยู่ที่ภาคใต้เพื่อคุมเชิงติดตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว เมื่อปรากฏว่าจอมพลถนอมจะถูกเนรเทศออกไปอีกครั้ง

ทั้งสองพระองค์รีบเสด็จกลับมากรุงเทพฯ และภายในสามชั่วโมงหลังเสด็จกลับมาถึง ก็เสด็จเยี่ยมเณรถนอมที่วัดบวร อย่างเปิดเผยเป็นข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ ในหลวงภูมิพลทรงฉลองพระองค์ในชุดทหาร ติดตามด้วยบรรดาผู้นำของขบวนการนวพลอย่างเปิดเผยไม่หวั่นต่อสายตาของสาธารณชน

เป็นการประกาศพระองค์สนับสนุนจอมพลถนอมและพวกอันธพาลนวพล ต่อต้านมติของสภา คณะรัฐมนตรีและประชาชนผู้รักประชาธิปไตยทั่วไป พระเจ้าอยู่ได้ทรงเปิดเผยจุดยืนของพระองค์อย่างชัดเจน และพร้อมจะปะทะขั้นแตกหักหลังจากที่ทรงอำพรางและคลุมเครือตีสองหน้าทำให้ผู้คนเข้าใจผิดมาตลอด

23 กันยายน 2519 ม.ร.ว.เสนีย์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพราะคาดไม่ถึงว่าพระเจ้าอยู่หัวทรงออกศึกขอท้าชนตรงๆ ในขณะที่ทหารเตรียมกำลังเต็มอัตราศึก และ สถานีวิทยุยานเกราะออกอากาศให้ตำรวจจับนักศึกษาที่ติดโปสเตอร์ต่อต้านจอมพลถนอม แต่สภาปฏิเสธการลาออก นายกเสนีย์ต้องปรับคณะรัฐมนตรีให้ทำงานต่อไปได้ มีการเสนอให้ปรับพรรคชาติไทยออกและนำพรรคกิจสังคมของมรว.คึกฤทธิ์เข้ามาแทน แต่พระเจ้าอยู่หัวทรงแทรกแซง ด้วยการที่ทรงปฏิเสธไม่ให้เอาพรรคชาติไทยออก นายกเสนีย์ทำได้แค่เอานายสมัครกับรัฐมนตรีขวาจัดอีกคนหนึ่ง (นายสมบุญ ศศิธร)ออกจากคณะรัฐมนตรี นายกเสนีย์พยายามประคับประคองรัฐบาลอย่างเต็มที่ ขณะที่สถานการณ์ทวีความตึงเครียดและรุนแรงขึ้น




24 กันยายน 2519
พนักงานการไฟฟ้านครปฐม 2 คน ที่เป็นสมาชิกแนวร่วมต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ถูกสังหารและแขวนคออย่างโหดเหี้ยม







25 กันยายน 2519 ม.ร.ว.เสนีย์ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง ในขณะที่ขบวนการนักศึกษาและแนวร่วมต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ เรียกร้องให้ขับจอมพลถนอมออกนอกประเทศและเร่งจับฆาตรกรสังหารพนักงานการไฟฟ้าโดยเร็ว


30 กันยายน 2519 ม.ร.ว.เสนีย์ ยืนยันว่าข้อเรียกร้องให้พระถนอม ออกนอกประเทศนั้น รัฐบาลทำไม่ได้ เพราะขัดต่อรัฐธรรมนูญ มีนักศึกษาและกรรมกร 10,000 คนชุมนุมประท้วงที่สนามหลวง




3 ตุลาคม 2519 นักศึกษาประกาศร่วมมือกับกรรมกรและกลุ่มอื่นๆ ในการไม่เข้าเรียนและหยุดงานประท้วง จนกว่าจอมพลถนอมจะออกไปนอกประเทศ พระเจ้าอยู่หัวทรงตอบโต้ ด้วยการรับสั่งให้ฟ้าชายวชิราลงกรณ์งดการฝึกทหารที่ออสเตรเลียทันที และให้รีบเสด็จกลับประเทศ ฟ้าชายวชิราลงกรณ์รีบเสด็จกลับกรุงเทพในชุดทหาร และตรงไปยังวัดบวรนิเวศน์เพื่อเยี่ยมพระถนอม ในช่วงสองวันถัดมา ทั้งพวกซ้ายและพวกขวาจัดการประท้วงในหลายที่ ได้เกิดการปะทะกันแต่ไม่มาก

4 ตุลาคม 2519 ม.ร.ว.เสนีย์ นายกรัฐมนตรี ยอมรับว่ามีตำรวจกลุ่มหนึ่ง เป็นผู้สังหารโหดพนักงานการไฟฟ้านครปฐมที่ต่อต้านจอมพลถนอม ขณะที่นักศึกษาในธรรมศาสตร์ แสดงละครล้อเลียนการฆ่าแขวนคอพนักงานไฟฟ้านครปฐม ในบริเวณลานโพธิ์ธรรมศาสตร์ ได้ปรากฏภาพนักศึกษาที่เล่นเป็นผู้ถูกแขวนคอคนหนึ่งมีหน้าคล้ายฟ้าชายวชิราลงกรณ์ อาจเป็นภาพแต่งหรือภาพจริง แต่มันได้กลายเป็นชนวนสำคัญของการเข่นฆ่าใจกลางเมืองที่โหดร้ายป่าเถื่อนที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทยยุคใหม่

5 ตุลาคม 2519 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีโดยไม่มีนายสมัคร สุนทรเวช หนังสือพิมพ์ขวาตกขอบดาวสยาม ตีพิมพ์ภาพถ่ายของละครล้อเลียนการแขวนคอลงบนหน้าหนึ่ง พร้อมป่าวประกาศอย่างโกรธแค้นว่านักศึกษาแขวนคอฟ้าชายวชิราลงกรณ์ สถานีวิทยุของทหารโดย พ.อ. อุทาร สนิทวงศ์ ประกาศว่า เดี๋ยวนี้การชุมนุมที่ธรรมศาสตร์ไม่ใช่เป็นเรื่องต่อต้านพระถนอมแล้ว หากแต่เป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

ขอให้รัฐบาลจัดการกับผู้ทรยศเหล่านี้ โดยเร็วที่สุด เพื่อป้องกันการนองเลือดที่อาจจะเกิดขึ้น หากให้ประชาชนชุมนุมกันแล้ว อาจมีการนองเลือดขึ้นก็ได้ และเรียกร้องให้ลูกเสือชาวบ้านกับนวพล ออกมาชุมนุมและจัดการพวกนักศึกษา กล่าวหาว่านักศึกษาวางแผนที่จะบุกวังและวัดบวร วิทยุยานเกราะประกาศให้ฆ่ามัน ฆ่าพวกคอมมิวนิสต์ มีการเตรียมการวางแผนปลุกระดมลูกเสือชาวบ้าน กระทิงแดงกับนวพลให้มาชุมนุมเพื่อประท้วงคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ของรัฐบาลเสนีย์ และพร้อมปฏิบัติการขั้นเด็ดขาด

5 ตุลาคม 2519 พรรคชาติไทยและนายสมัคร ตอบโต้ด้วยการระดมลูกเสือชาวบ้านมาชุมนุมประท้วงจำนวนมาก เรียกร้องให้ปลดรัฐมนตรีประชาธิปัตย์สามคนที่พวกเขาบอกว่าเป็นคอมมิวนิสต์ (นายชวน หลีกภัย นายดำรงค์ ลัทธพิพัฒน์ นายสุรินทร์ มาศดิตถ์ )โดยนำมวลชนขวาจัดราว 4,000 คน มาชุมนุมที่หน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในคืนวันที่ 5 ตุลาคม 2519 ประกอบด้วยลูกเสือชาวบ้าน กระทิงแดง ตำรวจท้องที่ และคอมมานโดตชด.จากค่ายนเรศวรที่หัวหินที่บินมาโดยเฮลิค็อปเตอร์

5 ตุลาคม 2519 เวลา 21.30 น.นายประยูร อัครบวร กรรมการศูนย์นิสิตนำนักศึกษา 2 คนที่แสดงเป็นพนักงานการไฟฟ้าที่ถูกแขวนคอ แถลงข่าวแสดงความบริสุทธิ์ใจ ว่า ทางนักศึกษาไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมสถานีวิทยุยานเกราะและหนังสือพิมพ์ดาวสยาม จึงให้ร้ายป้ายสีบิดเบือนให้เป็นอย่างอื่น โดยดึงเอาสถาบันที่เคารพมาเกี่ยวข้อง
ถัดมา 10 นาที 21.40 น.รัฐบาลออกแถลงการณ์ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 ว่า ตามที่มีการแสดงละครที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม ศกนี้ มีลักษณะเป็นการหมิ่นหรือการแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อองค์รัชทายาท รัฐบาลได้สั่งการให้กรมตำรวจดำเนินการสอบสวนกรณีนี้โดยด่วนแล้ว

หลังจากนั้น สถานีวิทยุยานเกราะ ก็ปลุกระดมมวลชนและลูกเสือชาวบ้านให้ไปรวมตัวกันที่ลานพระบรมรูปทรงม้า เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งดำเนินการจับกุมผู้กระทำการหมิ่นองค์สยามมกุฎราชกุมารมาลงโทษ และ กล่าวหาว่านักศึกษาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตลอดทั้งคืนจนถึงเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519

ก่อนรุ่งสางของวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ฝ่ายขวาจัดที่บ้าคลั่งเริ่มเปิดฉากระดมยิงเข้าไปในบริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ด้วยปืนเอ็ม-16 คารไบน์ ปืนพก ปืนยิงระเบิด และกระทั่งปืนใหญ่ไร้แรงสะท้อน

นักศึกษาถูกปิดล้อม ไม่ให้เล็ดลอดออกจากมหาวิทยาลัยหรือแม้กระทั่งไม่สามารถนำร่างผู้ได้รับบาดเจ็บส่งโรงพยาบาล นักศึกษาได้ประกาศวิงวอนร้องขอให้หยุดยิง บรรดาผู้แสดงในละครแขวนคอได้เดินทางไปมอบตัวต่อนายกเสนีย์ที่ทำเนียบ

เมื่อนักศึกษาคนหนึ่งชูมือเดินออกมายอมให้จับก็ถูกยิงเสียชีวิต เวลา 08.10 น.พล.ต.ต.เสน่ห์ สิทธิพันธุ์ สั่งการให้ตำรวจตระเวณชายแดน พร้อมอาวุธสงครามบุกเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งมีนักศึกษาชุมนุมกันอยู่ประมาณ 3,000 คน

และจากการสั่งระดมยิงตามใจชอบโดยผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (พล.ต.ท.จำรัส จันทรขจร )ได้ทำให้ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กลายเป็นแดนสังหาร ที่ถูกถล่มด้วยอาวุธนานาชนิด ราวกับเป็นฐานที่มั่นของข้าศึกอริราชศัตรู

โดยมีกองกำลังตชด.ของพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลเป็นกองทัพหน้า ที่ใช้ทั้งกำลังตำรวจจากหลายส่วนเข้าแทรกแซงในฝูงชนเพื่อสร้างสถานการณ์และความรุนแรง



มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ถูกล้อมปิดประตูทุกด้าน เพื่อการล้อมปราบและเข่นฆ่าที่น่าสยดสยอง






นักศึกษาที่โดดลงแม่น้ำเจ้าพระยาถูกเจ้าหน้าที่ยิง คนที่ยอมจำนน นอนหมอบบนพื้นสนาม






ถูกกระชากลากทุบตี หลายคนถึงแก่ความตาย บางคนถูกเผาทั้งเป็น

บางคนถูกแขวนคอบนต้นมะขามที่สนามหลวงและถูกทุบตีซ้ำ นักศึกษาผู้หญิงถูกข่มขืนทั้งที่ยังมีชีวิตและเสียชีวิตไปแล้ว โดยตำรวจและกระทิงแดง


ความโหดร้ายป่าเถื่อนดำเนินไปเป็นเวลาหลายชั่วโมง และเลิกราไปต่อเมื่อเกิดพายุฝนในตอนเที่ยงเท่านั้น

แต่เหตุการณ์ก็ยังไม่สงบ ลูกเสือชาวบ้านนับหมื่นมาถึงกรุงเทพฯ แล้วชุมนุมกันที่ลานพระบรมรูปทรงม้ากับสนามม้านางเลิ้งโห่ร้องว่า ฆ่าพวกคอมมิวนิสต์ ฆ่ารัฐมนตรีหัวเอียงซ้ายสามคน ปกป้องชาติ ศาสน์ กษัตริย์ พวกเขาถูกปลุกปั่นจนบ้าคลั่งพร้อมจะโจมตีอะไรก็ได้ตามที่ถูกชักจูงให้ทำ

จวบจนมืดค่ำ ผู้บัญชาการตชด.กับฟ้าชายวชิราลงกรณ์ ก็ได้มาขอบคุณพวกลูกเสือชาวบ้านกระทิงแดงและนวพล และบอกให้พวกเขากลับบ้าน



คณะทหารได้ทำการยึดอำนาจ โดยเรียกตัวเองว่าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ด้วยการรับรองจากพระเจ้าอยู่หัว สองสามวันต่อมา นายธานินทร์ กรัยวิเชียร พระสหายคนโปรดของในหลวงภูมิพลก็ได้รับการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี



ทุกวันนี้ ผู้ที่ร่วมในเหตุการณ์ 6 ตุลา ยังคงต้อง
ปิดปากเงียบไม่กล้าสืบหาข้อเท็จจริง เกี่ยวกับที่มาที่ไปของเหตุการณ์ในวันนั้น ตัวเลขผู้เสียชีวิตอย่างเป็นทางการมีแค่ 46 ราย บาดเจ็บ 167 คน และถูกจับไปกว่า 3,000 คน แต่ผู้รอดชีวิตหลายคนอ้างว่ามีคนตายมากกว่า 100 คน





รัฐบาลใหม่เริ่มงาน ด้วยการให้ความชอบธรรมกับการโจมตีเข่นฆ่านักศึกษาว่าเป็นการปกป้องสถาบันกษัตริย์ และประเทศชาติ จากพวกก่อความวุ่นวายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่หนุนหลังโดยเวียตนาม รัฐบาลแสดงภาพถ่ายศพชายคนหนึ่งทางโทรทัศน์ อ้างว่าป็นหน่วยรบของเวียตนาม กองทัพอ้างว่าถูกยิงก่อนจากข้างในธรรมศาสตร์ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเรื่องโกหกทั้งสิ้น

มีความพยายามที่จะอธิบาย การโจมตีเข่นฆ่านักศึกษาในธรรมศาสตร์ว่า ไม่ได้เป็นความตั้งใจหรือมีการวางแผนกันมาก่อน แต่เป็นผลมาจากความวุ่นวายที่ถูกปลุกปั่นขึ้นโดยกลุ่มทหารและนักการเมืองเพื่อสร้างสถานการณ์ยึดอำนาจ พระเจ้าอยู่หัวเพียงแต่โชคร้ายต้องตกกระไดพลอยโจนเพราะสถานการณ์พาไป

แต่ความจริงคือการแต่งนิทานโกหกเพื่อแก้ตัวเท่านั้นเอง เพราะเหตุการณ์ทั้งหมดมีการวางแผนและจงใจชัดเจนแน่นอน การจัดตั้งมวลชนปีกขวาทั่วประเทศตลอดปีที่ผ่านมา ก็คือการตระเตรียมเพื่อทำสงครามประหัตประหารนั่นเอง ตชด.ที่หัวหินได้ฝึกอบรมลูกเสือชาวบ้านบุกจู่โจมเข่นฆ่านักศึกษา ลูกเสือชาวบ้านที่นครปฐมทำกิจกรรมจำลองการทุบตี และแขวนคอนักศึกษาไม่นาน ก่อนที่จะเกิดเหตุนักเคลื่อนไหวสองคนถูกฆ่าแขวนคออย่างทารุณ

การสั่งยิงของผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ก็แสดงให้เห็นถึงการวางแผนกันมาเป็นอย่างดี

ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อธิการบดีธรรมศาสตร์ได้เขียนในภายหลังว่า ผู้บัญชาการตำรวจคงไม่กล้าสั่งการเข่นฆ่ากันที่ธรรมศาสตร์หากเขาไม่ได้รับการรับประกันว่าเหตุการณ์นั้นจะนำไปสู่การยึดอำนาจ (ที่ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลกล้าสั่งตำรวจยิงนักศึกษาในธรรมศาสตร์ก็เพราะรู้มาก่อนแล้วว่าเป็นการสร้างสถานการณ์เพื่อให้พวกทหารยึดอำนาจ )

มันเป็นรูปแบบปกติของการทำรัฐประหารหลายครั้ง ก่อนหน้านั้น รวมถึง14 ตุลาด้วย นั่นคือ การสร้างสถานการณ์ให้เกิดความรุนแรง จนเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่สามารถควบคุมความรุนแรงไว้ได้ แล้วก็ให้กองทัพเคลื่อนกำลังเข้ามายึดอำนาจโดยการอ้างว่าต้องเข้ามาแก้ไขให้เกิดความสงบ การสังหารหมู่ 6 ตุลาทำให้กองทัพมีข้ออ้างในการยึดอำนาจ แต่หลังจากนั้นไม่เคยมีการสืบสวนหรือการตั้งข้อหาใดๆ ดร.ป๋วยเรียกว่ามันว่าเป็น ละครที่วางแผนมาอย่างดีที่นำไปสู่บทจบที่เตรียมการไว้แล้ว

แม้จะมีผู้สมรู้ร่วมสมคบคิดกันจำนวนมาก และพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลก็ได้ทิ้งรอยนิ้วมือไว้เต็มไปหมด แต่ก็ทำเป็นปล่อยละเลยไม่มีการสืบสวนหาข้อเท็จจริง โดยที่พระองค์และพระราชวงศ์นั่นแหละที่กำกับและลงมือเอง หลังจากที่ได้ทรงทำการปั่นยุยงมาเป็นปี รวมทั้งการที่ทรงแทรกแซงขัดขวางรัฐบาลในการปฏิบัติตามหน้าที่มาโดยตลอด

ที่น่าเกลียดที่สุดก็คือ พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลทรงประทับเคียงข้างพวกกระทิงแดง มาโดยตลอดและทรงเร่งให้เกิดความรุนแรงด้วยการนำจอมพลถนอมกลับประเทศ ทำให้รัฐบาลเสนีย์ไม่มีทางควบคุมสถานการณ์ได้เลย เมื่อนักศึกษาประท้วงจอมพลถนอม ในหลวงก็ไม่ทรงยับยั้งหรือห้ามปราม คนอย่าง พ.อ.อุทารที่เอาแต่ปลุกระดมให้เกิดการสังหารโหดนักศึกษา

การใช้ข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ สำหรับการแสดงละครของนักศึกษาเพื่อเป็นข้ออ้างสำหรับการใช้ความรุนแรงถึงขั้นเอาชีวิตกัน ก็เป็นเรื่องที่โหดเหี้ยมเหมือนยุคโบราณสมัยกษัตริย์เป็นเจ้าชีวิต ที่แสนจะล้าหลัง เมื่อผู้วิจารณ์กษัตริย์ถูกประหารอย่างรวบรัด ฟ้าชายวชิราลงกรณ์ก็ปรากฎพระองค์อยู่ที่ธรรมศาสตร์ช่วงวันที่ 5 และ 6 พร้อมกับตำรวจและลูกเสือชาวบ้านโดยหนังสือพิมพ์ได้ลงพระบรมฉายาลักษณ์ในชุดทหารออกรบพร้อมพกปืนที่เอว ทรงแวดล้อมด้วยลูกเสือชาวบ้านกระทิงแดง ตำรวจและทหาร

สี่วันถัดมาฟ้าชายวชิราลงกรณ์เสด็จเป็นประธานในพิธีมอบธงและรางวัลให้กับลูกเสือชาวบ้าน ที่ลพบุรีและสิงห์บุรี ที่ได้มาร่วมกันก่อการสังหารหมู่นักศึกษาในธรรมศาสตร์ มันเป็นการให้การรับรองอย่างชัดเจนราวกับเป็นการยืนยันเรื่องทั้งหมด เหล่านายพลที่ยึดอำนาจประกาศตามแบบฉบับของการรัฐประหารทุกครั้งที่ผ่านมา ว่า การยึดอำนาจครั้งนี้ เป็นไปเพื่อปกปักรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์... พระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ทรงได้รับการอารักขาโดยปลอดภัยแล้ว ประมาณว่า แค่นี้ก็เป็นเหตุผลเพียงพอแล้วสำหรับคนไทย



การนำจอมพลถนอมเข้าประเทศ ก็
เพื่อต้องการให้นักศึกษาประท้วงแล้วสร้างสถานการณ์สังหารโหด 6 ตุลา ซึ่งจบลงด้วยการรัฐประหาร ในเย็นวันนั้น ถ้าดูโดยรวมจะเห็นได้ว่ากลุ่มที่นำถนอมเข้ามา กับ กลุ่มที่บงการ 6 ตุลา และกลุ่มที่สนับสนุนรัฐประหารน่าจะเป็นกลุ่มเดียวกัน หรืออย่างน้อยก็ต้องรู้เห็นเป็นใจร่วมมือกัน

6 ตุลาคม 2519 เป็นการแสดงตัวตนของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่โจ่งแจ้งชัดเจนที่สุด นับแต่กบฏบวรเดชในปี 2476 ที่พวกเจ้าพยายามสนับสนุนทหารบางคนก่อการกบฏเพื่อฟื้นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

พระเจ้าอยู่หัวภูมิพล ทรงก่อตั้งและสนับสนุนการโจมตีทำร้ายประชาชนโดยกองกำลังติดอาวุธของพระองค์ ทรงปลุกปั่นพสกนิกรให้เผชิญหน้ากัน นักศึกษาและฝ่ายซ้ายถึง 10,000 คนต้องหนีเข้าป่าไปร่วมกับ พคท. ทำให้ขบวนต่อสู้ของพคท.กับรัฐบาลมีขนาดเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าและนำประเทศชาติเข้าใกล้สงครามกลางเมือง

มีการล้มเลิกรัฐธรรมนูญและยุบเลิกรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนและตั้งรัฐบาลที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหารที่เป็นเผด็จการทหาร รัฐบาลเผด็จการธานินทร์กับพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลไม่สามารถชี้แจงต่อประชาชนและประชาคมระหว่างประเทศที่ประณามความโหดร้ายป่าเถื่อนที่เกิดขึ้น และกษัตริย์ภูมิพลก็ไม่สามารถหลอกลวง ให้ผู้คนเข้าใจว่าทรงเป็นธรรมราชาที่เปี่ยมด้วยพระมหากรุณาธิคุณ อีกต่อไปแล้ว แม้ว่าในหลวงภูมิพลทรงต้องสนับสนุนความรุนแรงของฝ่ายขวาจัดเพื่อปกป้องและธำรงสถาบันพระมหากษัตริย์ของตนเองให้อยู่รอดต่อไป เพราะคอมมิวนิสต์ได้เถลิงอำนาจในประเทศข้างเคียงและขบวนการต่อสู้ของพคท.ในไทยก็กำลังขยายเติบโต ราชสกุลมหิดลจึงจำเป็นต้องร่วมมือกับพลังที่จะปกป้องราชบัลลังก์เหนือสิ่งอื่นใด

แต่นั่นก็ไม่ใช่เหตุผลที่พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลและพระราชินีสิริกิติ์จะต้องไปไกลถึงขนาดปลุกระดมความเกลียดชังให้สังคมไทย ต้องเผชิญหน้าฆ่าฟันกันเหมือนไม่ใช่คนชาติเดียวกัน มันได้สร้างตราบาปสำหรับสถาบันพระมหากษัตริย์เอง พระเจ้าอยู่หัวไม่ได้ทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในชาติไทยอีกต่อไปแล้ว แต่ทรงเป็นได้แค่ศูนย์รวมของพวกขวาจัดที่บ้าคลั่งเท่านั้น

พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลไม่ทรงเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยอีกต่อไปแล้ว กษัตริย์ภูมิพลประทับเคียงข้าง และทรงสนับสนุนพวกอนุรักษ์นิยมขวาจัดเต็มที่ ทรงสรุปว่าการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยมีแต่จะเอื้อให้ฝ่ายซ้ายได้ขึ้นมามีอำนาจและทำลายประเทศชาติของพระองค์

อาจเป็นเรื่องของสถานการณ์ที่สิ่งต่างๆบีบรัดมากขึ้นทุกที จากภัยคอมมิวนิสต์ สุขภาพของพระองค์เอง พระราชโอรสกับการสืบราชบัลลังก์ ความไม่สบอารมณ์กับระบอบทุนนิยมที่กำลังขยายตัวและการพัฒนาชนบทที่ไม่ได้ดั่งใจ การถูกทิ้งโดยประเทศพันธมิตรโดยเฉพาะสหรัฐ และการแผ่อำนาจของคอมมิวนิสต์ในประเทศเพื่อนบ้าน

สถานการณ์ดังกล่าวได้ผลักให้พระเจ้าอยู่หัวและพระราชินีต้องขวัญผวาตื่นตระหนกจนต้องถลำไปสู่ฝ่ายอนุรักษ์นิยม ที่รุนแรง ป่าเถื่อน ไม่ปรานีปราศรัย และนำไปสู่การสังหารหมู่ที่ธรรมศาสตร์ในที่สุด การล่มสลายของสถาบันกษัตริย์ลาว เจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวัฒนา ในวันที่ 2 ธันวาคม2518 เป็นจุดระเบิดสุดที่ทำให้ทรงปฏิเสธโดยสิ้นเชิงต่อทัศนะของผู้เชี่ยวชาญและรายงานข่าวกรองต่างๆ ที่ว่า พคท.ไม่มีความสามารถจะบ่อนทำลายรัฐบาลได้เลย และเวียตนามไม่มีความประสงค์จะบุกไทย

การรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 ทำให้พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลทรงมีโอกาสตั้งรัฐบาลของพระองค์เอง และปกครองราชอาณาจักรของพระองค์อย่างแท้จริงเป็นครั้งแรก ในหลวงทรงมีหุ่นเชิด คือนายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี การแทรกแซงบงการรัฐบาลได้กลายมาเป็นพระราชกรณียกิจหรือกิจวัตรประจำวันโดยมีการวางแผนและมีเป้าหมาย ที่มุ่งเพิ่มพูนอำนาจการเมืองของสถาบันกษัตริย์ เพื่อเป็นหลักประกันสำหรับรับมือกับความวุ่นวายและคอมมิวนิสต์

วังพยายามสร้างตัวเองให้เป็นสถาบันที่มีอำนาจครอบงำสูงสุด ซึ่งก่อให้เกิดการต่อต้านและคัดค้านรัฐบาลขวาตกขอบของนายธานินทร์ในเวลาแทบไม่ถึงหนึ่งปี ซึ่งทำให้พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลถึงกับทรงตกตะลึง เมื่อรัฐบาลของในหลวงถูกปฏิเสธเต็มๆ โดยเหล่านายพลสายกลาง นักธุรกิจ ข้าราชการและคนทั่วไป

ในฐานะผู้พิพากษาศาลฎีกา นายธานินทร์เป็นข้าราชการสายพันธุ์ที่ในหลวงภูมิพลทรงโปรดปรานมากที่สุด ทั้งซื่อสัตย์และทุ่มเท ไม่แสดงอาการทะเยอทะยานหรือตะกละตะกราม เป็นลูกจีนรุ่นที่สอง อายุเท่ากับในหลวง จบกฎหมายจากอังกฤษ แต่งงานกับหญิงชาวเดนมาร์ก(เคเรน แอนเดอเซ่น) และนิยมกษัตริย์ชนิดแทบจะมากกว่าตัวพระเจ้าอยู่หัวเองเสียอีก

นายธานินทร์เป็นที่รู้จักกันมากที่สุดจากการต่อต้านคอมมิวนิสต์ เขาเขียนหนังสืออย่าง การใช้กฎหมายเพื่อต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ และร่วมกับอาจารย์มหาวิทยาลัยสอนจิตวิทยาชื่อ นายดุสิต ศิริวรรณ จัดรายการโทรทัศน์ที่มีนวพลเป็นผู้อุปถัมถ์คือ สนทนาประชาธิปไตย ทั้งสองโจมตีคอมมิวนิสต์ นักศึกษาและนักการเมืองหัวก้าวหน้าอย่างดุเดือดว่าเป็นภัยต่อราชอาณาจักร


นายธานินทร์ได้พูดชัดเจนแบบฟันธงว่าประชาชนไทยไม่สามารถอยู่รอดได้หากปราศจากสถาบันกษัตริย์เพราะเผ่าพันธุ์ไทยไม่ได้กำหนดโดยลักษณะทางพันธุกรรมหรือภูมิศาสตร์การเมือง แต่โดย ความเป็นไทย อันเป็นแนวคิดที่จะไม่ดำรงอยู่หากแยกขาดจากกษัตริย์ หากปราศจากกษัตริย์แล้ว แผ่นดินและประชาชนก็จะตกอยู่ในห้วงอเวจี อันไม่มีลักษณะเฉพาะของตนแบบที่พวกคอมมิวนิสต์จะนำมา ก่อนหน้านี้นักผลิตอุดมการณ์แห่งรัชกาลที่ 9 คือ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากรกับพระยาศรีวิสารวาจาได้เคยเสนอว่าพระมหากษัตริย์ผู้ทรงธรรมมีความเป็นประชาธิปไตยสุดยอดแล้วโดยธรรมชาติ

แต่นายธานินทร์ก้าวไปไกลกว่าอีกขั้นหนึ่งโดยกล่าวว่า สามสิบปีที่พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลทรงครองราชย์ย่อมเป็นข้อพิสูจน์ว่าสถาบันอย่างรัฐสภากับระบบตัวแทนจากการเลือกตั้ง แม้กระทั่งรัฐธรรมนูญล้วนไม่มีความสำคัญ การมีส่วนร่วมของมวลชนในการบริหารงานแผ่นดินไม่มีความจำเป็น เพราะสถาบันกษัตริย์ทรงทำนุบำรุงสุขได้ดีที่สุดอยู่แล้ว นั่นคือประชาธิปไตยที่แท้จริง สำหรับเหตุการณ์สังหารโหด 6 ตุลา 19 นั้น ในหลวงภูมิพลกับนายกธานินทร์ต่างปฏิเสธไม่สนใจที่จะลดแนวทางแข็งกร้าวลงเลยแม้แต่น้อย

ฝ่ายซ้ายมากกว่า 10,000 คนจึงต้องหนีเข้าป่าเพื่อไปร่วมกับ พคท. ทำท่าจะเกิดสงครามกลางเมืองขึ้นมาจริงๆ เศรษฐกิจตกต่ำจากการถอนตัวของนักลงทุน ขณะที่วอชิงตันพันธมิตรเก่าแก่ของไทยก็ตัดความช่วยเหลือ พร้อมทั้งวิจารณ์รัฐบาลว่าไม่เป็นประชาธิปไตยและละเมิดสิทธิมนุษยชน

รัฐบาลใหม่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขนาดสั้นที่ให้อำนาจเกือบเบ็ดเสร็จแก่นายกธานินทร์ โดยมีสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดินที่มีแต่ข้าราชการและทหารจากการแต่งตั้ง คำสั่งของนายกรัฐมนตรีถือเป็นกฎหมายและมีอำนาจเด็ดขาดในการสั่งลงโทษ แบบเดียวกับเผด็จการสฤษดิ์ในปี 2501 จะต่างกันก็ตรงที่ ว่านายกธานินทร์คือหุ่นเชิดของพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล เจตจำนงของพระราชวังที่จะปกครองประเทศดูได้จากการที่รัฐธรรมนูญกำหนดอำนาจกษัตริย์อันใหม่ขึ้นมาคือ กษัตริย์สามารถเสนอกฎหมายเข้าสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดินได้โดยตรง

การที่นายธานินทร์เป็นเหมือนตัวแทนพระเจ้าอยู่หัวทำให้คณะรัฐประหารต้องคล้อยตามนายธานินทร์ในการจัดการ ปราบปรามฝ่ายซ้ายอย่างไม่ปรานีปราศรัย นายธานินทร์โอนคดีอาญาไปไว้ภายใต้อำนาจศาลทหาร และตำรวจได้รับอำนาจมากมายที่จะจับใครกักขังก็ได้ รัฐบาลตีตราทุกคนที่สนับสนุนการลุกขึ้นสู้ของประชาชนว่าเป็นคนทรยศและคอมมิวนิสต์ และสามารถขังพวกเขาได้ถึงหกเดือนโดยไม่ต้องแจ้งข้อหา หลายพันคนถูกจับกุมในช่วงนั้น โดยถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ที่วางแผนโค่นล้มรัฐบาลและสถาบันกษัตริย์

กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพก็ถูกปรับให้โหดยิ่งขึ้น ก่อนตุลาคม 2519 โทษหมิ่นฯ คือจำคุกสูงสุดไม่เกินเจ็ดปี ทำให้ศาลสามารถยืดหยุ่นได้มาก และหลายคนที่ถูกเล่นงานด้วยข้อหานี้ก็โดนแต่เพียงเบาะๆ รอลงอาญาหรือไม่ก็ติดคุกไม่กี่เดือน

ผู้พิพากษาหลายคนเข้าใจว่าข้อหาหมิ่นฯได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองของฝ่ายขวา ที่บ่อยครั้งเหลวไหลไร้เหตุผล แต่เพียงสองสัปดาห์ที่ครองอำนาจ นายกธานินทร์จัดการ แก้ไขให้มีโทษต่ำสุดจำคุกสามปีและสูงสุดไม่เกิน 15 ปี การจับกุมข้อหาหมิ่นฯ เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว ปี 2518 มี 10 คนถูกจับข้อหาหมิ่นฯ ปี 2519 มี 21 คน และในปี 2520 ภายใต้รัฐบาลพระราชทานธานินทร์ 42 คน ชายคนหนึ่งถูกข้อหาหมิ่นฯ เพราะใช้ผ้าพันคอลูกเสือชาวบ้านเช็ดโต๊ะ

นายกธานินทร์ทำแบบเผด็จการสฤษดิ์ โดยสั่งประหารชีวิตอาชญากรอุกฉกรรจ์ไปสองสามคนเพื่อข่มขวัญไม่ให้มีใครกล้าหือ กวดขันกับการนำเสนอข่าวของสื่ออย่างเข้มงวดและสั่งห้ามการประท้วงทั้งหมด


ตำรวจบุกค้นตามบ้านเรือน โรงเรียนและสถานที่ทำงานต่างๆ เพื่อยึดหนังสือต้องห้ามเลยเถิดไปถึงขนาดเผาหนังสือทุกเล่มที่มีหน้าปกสีแดง การพูดคุยความคิดทางการเมืองในสถานศึกษา ไม่ว่าจะเป็นมาร์กซิสม์/สังคมนิยม หรือประชาธิปไตย ถูกสั่งห้าม ตำราเรียนถูกเขียนใหม่และมีการสร้างภาพยนตร์เชิดชูคุณค่าแบบไทยๆ คือความจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ เพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์ หนังสือของนายธานินทร์เรื่องกษัตริย์ไทยได้รับการตีพิมพ์ใหม่โดยรัฐบาลและแจกจ่ายไปตามโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศ

การปราบปรามคอมมิวนิสต์ในชนบททวีความรุนแรงจนเกือบถึงขั้นสงครามเต็มรูปแบบ แต่มีรายงานว่าชาวบ้านผู้บริสุทธิ์ถูกฆ่าตายไปมากกว่าพลพรรคพคท. เสียอีก ที่ภาคใต้ ระเบิดนาปาล์มทำลายหมู่บ้านเรือกสวนไร่นา อันเป็นที่ทำกิน แต่ฐานกำลังของพคท. แทบไม่กระเทือน การโจมตีแบบกองโจรหรือซุ่มโจมตีดำเนินต่อไปอย่างมีจังหวะขั้นตอน และตัวเลขการสูญเสียของฝ่ายรัฐบาลพุ่งขึ้นเป็น 550 นายในสามเดือนแรกของปี 2520

นายกธานินทร์ยังมีท่าทีที่แข็งกร้าวต่อเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วย โดยยกเลิกการริเริ่มฟื้นฟูสัมพันธไมตรีกับจีนและเวียตนาม ของนายกคึกฤทธิ์และนายกเสนีย์ทิ้ง และประกาศเป็นศัตรูกับรัฐบาลทั้งสองประเทศอีกครั้ง ประเทศไทยเลยกลายเป็นนักเลงหาเรื่องพิพาทกับเพื่อนบ้าน กลายเป็นเผด็จการทหารขวาจัดที่อันตราย และได้สร้างความแตกแยกแก่สังคมไทยส่วนใหญ่ เป็นที่ชัดเจนว่านายกธานินทร์ไม่รับใช้ใครทั้งนั้นนอกจากพระเจ้าอยู่หัว

ส่วนในหลวงภูมิพลก็มิได้น้อยหน้าไปกว่านายกธานินทร์ ทรงประกาศว่าการรัฐประหาร 6 ตุลานั้นเป็น การแสดงถึงสิ่งที่ประชาชนต้องการอย่างชัดเจน



ในพระบรมราโชวาทวันเฉลิมพระชนมพรรษาเดือนธันวาคม ทรงตรัสว่า ในช่วงเวลาที่ประเทศของเราประสบภัยคุกคามอย่างต่อเนื่องจากศัตรู เสรีภาพและการดำรงอยู่ในฐานะที่เป็นคนไทยอาจถูกทำลาย หากคนไทยไม่มีสำนึกรักชาติและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในการต้านทานศัตรู… ตามนั้น กองทัพไทยจึงมีหน้าที่สำคัญที่สุดในการปกป้องประเทศในทุกเวลา เตรียมพร้อมเสมอในการปฏิบัติภารกิจเพื่อป้องกันประเทศชาติ ไม่กี่สัปดาห์หลังจากนั้น ได้มีพระราชดำรัสต้อนรับการกลับมาของจอมพลประภาสที่ได้รับการรายงานผ่านสื่อเป็นอย่างดี

การที่พระเจ้าอยู่หัวทรงมีท่าทีแข็งกร้าวออกแนวขวาจัดทำให้พระองค์เสียภาพลักษณ์ความเป็นนักประชาธิปไตย หลังจากที่สถาบันกษัตริย์ได้แย่งชิงตำแหน่งนี้มาครองเป็นเวลาหลายสิบปีจากผู้ก่อการ 2475 และกล่อมคนไทยจนเชื่อว่าประชาธิปไตยนั้นเป็นสิ่งที่รัชกาลที่ 7 ทรงดำริจะพระราชทานให้แต่แรกแล้ว รัฐบาลใหม่ของประธานาธิบดีจิมมี คาร์เตอร์ที่วอชิงตันตำหนิไทยอย่างแข็งกร้าวที่ละทิ้งประชาธิปไตย และพคท.ก็เรียกรัฐบาลว่าเป็นเผด็จการกึ่งเมืองขึ้นกึ่งศักดินา

ระบอบธานินทร์และวังดิ้นรนประคองตนเองท่ามกลางเสียงวิจารณ์อย่างหนักด้วยการอ้างว่าตนเองก็เป็นประชาธิปไตย ตนเชื่อในรูปแบบหนึ่งของสังคมนิยมประชาธิปไตยตามแบบอังกฤษและเดนมาร์ก โดยรัฐบาลจะจัดการเลือกตั้งและเคารพสิทธิ์ของประชาชน แต่ประชาชนต้องได้รับการศึกษาก่อนใช้เวลา12 ปี เรียกว่า แผนจุฬาลงกรณ์

นายธานินทร์โหมโฆษณาชวนเชื่อย้ำว่าสถาบันกษัตริย์เป็นผู้อุปถัมภ์ค้ำชูประชาธิปไตยมาตั้งแต่พ่อขุนรามคำแหง รัฐบาลท่องวลีจากรัฐธรรมนูญฉบับสั้นราวกับเป็นบทสวดมนต์ว่า ประชาธิปไตยเป็นการปกครองรูปแบบหนึ่งที่มี กษัตริย์เป็นประมุข พระบรมราโชวาทของพระเจ้าอยู่หัวก็ยังหันมาอธิบายว่าประชาธิปไตยเป็นระบอบที่มีระเบียบวินัยเท่ากับบอกเป็นนัยว่าช่วง 2516-2519 นั้นไม่เป็นประชาธิปไตย มีข่าวว่านายกธานินทร์วางแผนจะแปรรูปอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่สร้างโดยจอมพลป.และเป็นสถานที่ยอดนิยมสำหรับการชุมนุมประท้วงของนักศึกษาให้กลายเป็นอนุสาวรีย์ของพระมหากษัตริย์

หลังจากที่สามทรราชออกนอกประเทศไป สีของพานและรัฐธรรมนูญถูกเปลี่ยนจากสีดำเป็นสีเหลืองทอง กลายเป็นสัญลักษณ์ของประชาธิปไตยเสรีแบบตะวันตก หลังจากเหตุการณ์ 6 ตุลา วังเล็งเห็นว่าจะต้องยึดฉวยพลังเชิงสัญลักษณ์ ของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย หรือไม่ก็ต้องทำลายเสีย

นายกธานินทร์จึงจัดงบประมาณก้อนใหญ่สร้างรูปหล่อขนาดใหญ่ของรัชกาลที่ 7 เพื่อไว้บนยอดอนุสาวรีย์แทนที่รัฐธรรมนูญ แต่มีปัญหาทางวิศวกรรม รัฐบาลจึงนำรูปหล่อไปไว้หน้ารัฐสภาแทน โดยมีคำจารึกเป็นวรรคทองที่รัชกาล 7 มีพระราชดำรัสกล่าวสละราชสมบัติ ประโยคทองที่ทำให้พระองค์ยังคงยืนยงเป็นบิดาแห่งระบอบรัฐสภาและรัฐธรรมนูญของไทย...ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใดโดยเฉพาะเพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิ์ขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร...
สำหรับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยของเดิมนั้น รัฐบาลธานินทร์ตัดสินใจจะทำลายทิ้ง คณะกรรมการชุดที่จัดการเรื่องนี้ตัดสินใจอย่างง่ายดายว่า อนุสาวรีย์นี้ไม่ควรค่าแก่การรักษาไว้เนื่องจากมันไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับพระเจ้าอยู่หัวเลย

คงเป็นเพียงเรื่องปกติธรรมดา ของพระมหากษัตริย์แบบไทยๆ ที่ทรงทำได้ทุกอย่างเพื่ออำนาจและผลประโยชน์ โดยสวมหน้ากากของพระเจ้าอยู่ผู้รักและอุทิศพระองค์เพื่อประชาชน ทรงเป็นเสาหลักของระบอบประชาธิปไตย แต่ที่แท้ก็ทรงเป็นแค่หมาป่าที่คลุมร่างไว้ด้วยหนังแกะเท่านั้น

.....


ไม่มีความคิดเห็น: